อุตฯ ไบโอพลาสติกไทยพร้อมหรือยัง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 23, 2009 13:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อันเนื่องมาจากสมการโลกร้อนได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามกำลังวัน และมนุษย์ถือเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการกระทำต่อโลกให้บอบช้ำ เมื่อโลกถูกกระทำมากขึ้นสิ่งที่ตามมาคือความเลวร้ายของฤดูกาล ร้อนก็ร้อนมากทุบสถิติไม่เว้นแต่ละปี หนาวก็เหน็บถึงขั้นทำนายกันว่าเมืองร้อนอย่างประเทศไทยจะเกิดหิมะตกได้ แม้ฟังดูจะเป็นเรื่องตลกแต่ก็ขำได้ไม่เต็มปาก ด้วยเหตุนี้เองจึงนำไปสู่การเรียกร้องเพื่อรักษ์โลกอย่างจริงจังไปทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย

อุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ (Biodegradable Plastics) หรือ ไบโอพลาสติก จึงเป็นคำตอบหนึ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั่วโลกต่างเรียกร้องให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการช่วยโลกได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ทำลายชั้นบรรยากาศเหมือนพลาสติกทั่วๆ ไปอย่างที่เคยใช้มาเมื่อก่อน โดยพลาสติกย่อยสลายได้มาจากกระบวนการทางชีวภาพ คือ พลาสติกที่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงสมบัติเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ในสภาวะแวดล้อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกดูดซึม และย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์อย่างสมบูรณ์ได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย

สถานการณ์ทั่วไป

ในปัจจุบัน กลุ่มประเทศธุรกิจหลัก ๆ ได้เล็งเห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม และได้มีปัจจัยสนับสนุนการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพทั้งด้านมาตรการ และนโยบายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดการทดแทนการใช้พลาสติก และมีทิศทางที่ชัดเจน โดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหลายต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ซึ่งได้ออกมาตรการทางกฏหมายรวมทั้งมาตรการด้านภาษีออกมาชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ผลิตผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกออกมาให้สอดคล้องกับสถาณการณ์ของโลก พร้อมกันนั้นยังถือเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งได้ต่อไปในอนาคตอันใกล้

เริ่มจากประเทศญี่ปุ่นในปี 2001 ได้ออกกฎหมายการซื้อสีเขียว (Law on Promoting Green Purchasing) และออกกฎหมายการนำกลับมาใช้อีก (Law on Recycling) เพื่อกระตุ้นให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการช่วยโลกได้อีกทางหนึ่ง พร้อมกันนั้น ญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมที่จะทำให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2002 สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมายสนับสนุนผลิตภัณฑ์รักษาสิ่งแวดล้อม (11 มลรัฐ) กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมักได้จะได้รับยกเว้นภาษี และตั้งเป้าการใช้ผลิตภัณฑ์มวลชีวภาพจากร้อยละ 5 ปี 2002 เป็นร้อยละ 12 ปี ค.ศ. 2010 และถึงร้อยละ 20 ในปี ค.ศ. 2030 มาตรการนี้ย่อมถือว่าสหรัฐสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อเป็นตัวอย่างให้ชาวโลกได้เห็นอีกทางหนึ่ง เมื่อมหาอำนาจเคลื่อนตัวประเทศอื่นๆ ทั่วโลกย่อมขยับตาม และเมื่อทั่วโลกต่างขานรับแนวทางย่อมนำมาซึ่งการดูแลโลกอย่างเป็นระบบสร้างพลังสีเขียวขับไล่มลพิษที่กำลังกระทำต่อโลกในที่สุด

ในปี ค.ศ. 2005 เยอรมนี ถือเป็นอินทรีย์แห่งอุตสาหกรรมของโลกที่ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ได้ออกนโยบายให้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมักได้จะได้รับการยกเว้นภาษี แม้จะยังไม่ระบุรายละเอียดชัดเจนมากนักแต่จุดมุ่งหมายของนโยบายนี้คือกระตุ้นให้ผู้ประกอบการได้ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองแนวทางการเยียวยาและรักษาโลก ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่เพิ่มทวีคูณเช่นกัน และขึ้นชื่อว่าเยอรมนีย่อมมีของดีด้านเทคโนโลยีมาอวดชาวโลกได้แน่นอน

ส่วนประเทศฝรั่งเศส มีข้อกำหนดชัดเจนไว้ว่าในปี ค.ศ. 2010 กำหนดให้ถุงใส่ของทิ้งต้องย่อยสลายได้ทางชีวภาพได้

จากมาตรการและนโยบายต่าง ๆ พบว่า พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (biodegradable plastic) เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาวัสดุสำหรับการใช้งานเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งในด้านวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และกระบวนการกำจัด ปัจจุบันพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากนักวิทยาศาสตร์ ตลอดจนนักอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าทั่วโลก โดยพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ ผลิตมาจากวัตถุดิบที่สามารถผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ในธรรมชาติ (renewable resource) ใช้พลังงานในกระบวนการผลิตต่ำ และสามารถย่อยสลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำได้ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติภายหลังจากการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการใช้งานได้เทียบเท่าพลาสติกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสามารถทดแทนการใช้งานที่มีอยู่ได้

ไทยพร้อมเพียงไร กับอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก

ประเทศไทย ถือเป็นแผ่นดินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านพืชพรรณธัญญาหารที่หลากหลาย สินค้าทางการเกษตรสามารถแปรรูปแปลงธาตุเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมาก โดยในส่วนของชีวมวล ไทยถือว่ามีศักยภาพไม่แพ้ประเทศอื่นในโลก ซึ่งมีวัตถุดิบที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งมีปริมาณการผลิตเป็นจำนวนมาก และไทยยังมีอุตสาหกรรมพลาสติกที่มีความพร้อมรองรับในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ในอนาคต และยังมีนักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจพร้อมเข้ามาลงทุน หากแต่ยังรอความชัดเจนและมาตรการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกว่า ภาคอุตสาหกรรมได้มีการเคลื่อนตัวขานรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดย สศอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกำลังหนุนของภาคอุตสาหกรรม คอยเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง และพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพอย่างจริงจัง

โดยได้เร่งลงมือทำการศึกษาวิจัยอุตสาหกรรมแปรรูปที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตรในกลุ่มที่ให้แป้งน้ำตาล เช่น มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบมวลชีวภาพ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง โดยผ่านกระบวนการทางชีวภาพ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพขั้นต้นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ พลังงานเชื้อเพลิงทดแทน รวมถึงบรรจุภัณฑ์ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทดแทนพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียม สามารถย่อยสลายง่ายไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สศอ. ได้ให้ความสำคัญและคอยสนับสนุนอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว และเพื่อยึดครองโอกาสการเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพอย่างครบวงจร

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ก็ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่ง เนื่องจากหากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศย่อมเป็นการสนับสนุนให้เกิดความคึกคักจากต้นธารสู่ปลายธารของภาคอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ย่อมเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ก้าวออกมาช่วยเรียกร้องสิทธิ์ของโลกให้ร่มเย็นกลับมาได้อีกครั้ง

หน่วยวิจัยขานรับไบโอพลาสติก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดทำแผนที่นำทางแห่งชาติเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (พ.ศ. 2551- 2555) ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลยุทธ์ ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 การสร้างความพร้อมด้านวัตถุดิบมวลชีวภาพ

กลยุทธ์ที่ 2 การเร่งรัดและสร้างเทคโนโลยี

  • ด้านการเร่งรัดให้มีเทคโนโลยีที่ใช้ได้ทันที
  • ด้านการพัฒนาต่อยอดและการสร้างเทคโนโลยีของประเทศ

กลยุทธ์ที่ 3 การสร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจนวัตกรรม

  • ด้านธุรกิจอุตสาหกรรม
  • ด้านธุรกิจการตลาดในและต่างประเทศ

กลยุทธ์ที่ 4 การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

  • ด้านการสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อทดสอบการย่อยสลาย
  • ด้านสิ่งแวดล้อม
  • ด้านนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายต่างให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีการหันมาดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลาสติกชีวภาพมากขึ้น และเริ่มมีการพัฒนาธุรกิจของตัวเอง โดยการนำเข้าเม็ดพลาสติกชนิด PLA (Poly Lactic Acid) มาผ่านกระบวนการขึ้นรูปเพื่อทดสอบความเป็นไปได้โดยใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เดิมในการผลิตพลาสติกธรรมดา และมีบางบริษัทได้ริเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองในรูปแบบของการผลิตพลาสติกที่มีการเติมสารเติมแต่งให้เหมาะสมในการขึ้นรูปและการใช้งานเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อสร้างโอกาสการส่งออกต่างประเทศต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ