รายงานวิจัยกรีนพีซล่าสุดเปิดเผยผลลัพธ์ซ่อนเร้นที่เกิดจากมลพิษทางน้ำ

ข่าวทั่วไป Thursday May 26, 2011 17:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--กรีนพีซ กรีนพีซได้จัดพิมพ์รายงานวิจัยล่าสุด“ผลลัพธ์ที่ซ่อนเร้น” และเรียกร้องให้รัฐบาลถอดบทเรียนจากประเทศที่พัฒนาแล้วและมีนโยบายปกป้องแหล่งน้ำสะอาดอันมีค่าของประเทศจากมลพิษอุตสาหกรรม รายงานดังกล่าวระบุถึงสถานการณ์มลพิษของแม่น้ำสำคัญสี่สายของซีกโลกใต้ (1) ได้แก่ แม่น้ำแยงซี แม่น้ำจ้าพระยา แม่น้ำมาริลาโอ และแม่น้ำเนวา ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องให้คำมั่นต่อ “อนาคตปลอดสารพิษ” และมีมาตรการปกป้องวิถีชีวิตของประชาชน สัตว์ป่าและพรรณพืชที่พึ่งพาอาศัยในลุ่มน้ำและทรัพยากรที่เกื้อหนุนการดำรงชีพ รายงาน “ผลลัพธ์ที่ซ่อนเร้น” กล่าวถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมของที่เกิดจากมลพิษทางน้ำจากภาคอุตสาหกรรม นำเสนอตัวอย่างปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษอันตรายในสิ่งแวดล้อมในระยะยาวจากประเทศต่างๆ ในซีกโลกเหนือ(2) รวมถึงแม่น้ำฮัดสัน สามเหลี่ยมปากแม่น้ำในประเทศเนเธอร์แลนด์ แม่น้ำลาโบเรค และกรณีบ่อฝังกลบสารพิษในสวิสเซอร์แลนด์ (3) ซึ่งความพยายามในการ “ประหยัดเงินหรือลดต้นทุนผลิต” โดยเลือกวิธีการจัดการมลพิษมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดนั้น ในท้ายที่สุดแล้วกลับกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากและก่อให้เกิดความสูญเสียอีกหลายประการในอนาคต พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "รายงานฉบับนี้ได้ลบล้างมายาคติของมุมมองที่คับแคบที่ว่า "มลพิษคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความก้าวหน้า" ประสบการณ์จากทั่วทุกมุมโลกแสดงให้เห็นว่ามลพิษทางน้ำจากภาคอุตสาหกรรมได้ก่อให้ เกิดภาระอันใหญ่หลวงด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รายงานได้เสนอแนวทางที่ดีกว่านั่นคือนโยบายการป้องกันมลพิษที่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์" พลายกล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาและเราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลสามารถนำพาประเทศสู่สองแนวทาง คือยอมให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมเสี่ยงกับมลพิษที่เป็นอันตรายและทำให้ลูกหลานในอนาคตต้องตกอยู่ในสภาพที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการกับการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำที่มีค่าใช้จ่ายในระดับที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้ หรือ ทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับรัฐบาลคือการดำเนินนโยบาย “อนาคตปลอดสารพิษ” (Toxic-Free Future) ” แม่น้ำเจ้าพระยามีความสำคัญเหมือนกับแม่น้ำสายอื่นทั่วโลก เช่น แม่น้ำเนวา มาริลาโอ และแยงซี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และสำหรับการทำเกษตร เป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งในชนบทและเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น เซี่ยงไฮ้ และกรุงเทพฯ สารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่สะสมและคงอยู่ในแหล่งน้ำ รวมถึงห่วงโซ่อาหาร ซึ่งยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัดให้หมดไป การปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำจึงเป็นอันตรายและสร้างความเสียหายอย่างมากต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม “ผลกระทบจากมลพิษทางน้ำต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไทยมักไม่เคยได้รับการชดเชย เนื่องจากยากที่จะประเมินความเสียหาย หรือไม่ก็ไม่สามารถหาตัวผู้ก่อมลพิษให้มารับผิดชอบได้ ประชาชนก็มักจะต้องเป็นฝ่ายแบกรับผลกระทบต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่มาจากภาษี” พลาย กล่าวอีกว่า “พรรคการเมืองต่างๆ ที่อยากจะมาเป็นรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ปัญหามลพิษทางน้ำจากภาคอุตสาหกรรม โดยต้องสร้างความโปร่งใสในการรายงานข้อมูลการปล่อยมลพิษ (4) และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยมลพิษให้เหลือศูนย์ (5)” กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลวางนโยบาย “อนาคตปลอดสารพิษ” (Toxic-Free Future) ในการพัฒนาประเทศ โดยจัดให้มีมาตรการป้องกันไว้ก่อน และยุติการใช้และการปลดปล่อยสารเคมีอันตรายอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมาย “การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์” (Zero Discharge) กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วนดังนี้ - นำระบบการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษมาใช้ เช่น ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTRs) - รวบรวมจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายที่ควรเลิกใช้ - ตั้งเป้าหมาย “การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์” และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อ ลด จำกัดการใช้ และเลิกใช้สารเคมีอันตรายในกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม“ผลลัพธ์ที่ซ่อนเร้น: ความเสียหายจากมลพิษทางน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมต่อประชากร โลก และผลประโยชน์” http://www.greenpeace.org/seasia/th/Global/seasia/report/2011/hidden-consequences.pdf บทสรุปรูปแบบนิตยสารออนไลน์ http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/toxics/water-patrol/hidden-consequences/ ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 02-357-1921 ต่อ 135, 081-658-9432 วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 089-487-0678 ภาพประกอบรายงาน http://photo.greenpeace.org/GPI/C.aspx?VP3=ViewBox_VPage&ALID=27MZIFII8EFK&CT=Album หมายเหตุ: 1. คำว่า “ซีกโลกใต้” หมายถึง ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วหรือมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศรัสเซีย ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม “ซีกโลกใต้” นั้น ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในทวีปอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ประเทศในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งในรายงานฉบับนี้ได้ยกกรณีศึกษาจากประเทศจีน ไทย ฟิลิปปินส์ และ รัสเซีย 2. คำว่า “ซีกโลกเหนือ” ใช้แทนประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป เป็นทวีปที่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับสูง โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของโลก จึงใช้คำว่า “ซีกโลกเหนือ” ในรายงานฉบับนี้ได้ยกกรณีศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และ สโลวาเกีย 3. ดูรายงาน “ผลลัพธ์ที่ซ่อนเร้น” 4. ระบบการเปิดเผยข้อมูลมลพิษ อาทิ “ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers- PRTRs)” เป็นเครื่องมือทางนโยบายหรือระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้หลักการความโปร่งใสด้านการรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาการลดมลพิษ โดยแต่ละโรงงานต้องรายงานข้อมูลการใช้และการปล่อยสารเคมีอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมเพื่อการกำจัดทำลาย ทิศทางข้อมูลดังกล่าวจะเป็นตัวชี้ว่าแต่ละโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรมมีความคืบหน้าในการลดมลพิษได้เท่าไร สามารถชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนา และยังรวมการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือประชาชนหรือชุมชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อเรียนรู้ถึงมลพิษที่อยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัย ตระหนักในการเฝ้าระวังและป้องกันอันตราย ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้รับ รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.greenpeace.org/seasia/th/water-patrol/reports/pollutant-release-and-transfer-register 5. “การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Discharges)” หมายถึงการยุติการปลดปล่อยมลพิษที่เป็นสารเคมีอันตรายภายใต้กรอบระยะที่กำหนด โดยมีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนตามช่วงเวลาต่างๆ ที่สามารถชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าในการลดการปล่อย การบรรลุเป้าหมายสามารถทำได้โดยการนำวิธีการลดมลพิษต่างๆ มาประยุกต์ใช้ อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด การปรับปรุงกระบวนการผลิต การนำมาใช้ใหม่ และการทดแทนสารเคมีอันตรายด้วยสารเคมีที่ปลอดภัยกว่า ซึ่งสารเคมีอันตรายส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำลายให้หมดไปหรือกำจัดได้ทั้งหมดแม้มีการบำบัด ดังนั้นการลดมลพิษจึงต้องใช้หลักป้องกันไว้ก่อน ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายระยะแรกอาจเริ่มจากการจัดทำบัญชีสารเคมีอันตรายที่สำคัญต่อการควบคุม ที่มีการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อ ลด จำกัดการใช้ และเลิกใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว http://waterpatrol.greenpeace.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ