งานสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กไทยในการรองรับการค้าเสรีอาเซียน (AEC)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 15, 2011 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสนอผลงานการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมฯ และจัดงานสัมมนา “การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยในการรองรับการค้าเสรีอาเซียน” ภายใต้แผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพฯ ประจำปี 2554 แสดงความพร้อมในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยในการก้าวสู่การค้าเสรีอาเซียน นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การค้าเสรีอาเซียน (AEC) นั้น จะส่งผลดีต่อผู้ผลิตในประเทศไทย ได้แก่ การลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและแรงงานจากต่างประเทศ และโอกาสในการส่งออกสินค้าไปขายยังประเทศในอาเซียน แต่ผลกระทบในอีกด้านหนึ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม ได้แก่ ผลจากการลดภาษีนำเข้า ทำให้สินค้าของประเทศในอาเซียนที่จะเข้ามาขายในประเทศไทยจะมีราคาถูกลง การแข่งขันจะสูงขึ้น และมีโอกาสที่ผู้ผลิตบางรายอาจมีการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นในอาเซียนหากมีต้นทุนทางการผลิตถูกกว่า ดังนั้น ผู้ผลิตของไทยต้องมีความพร้อมต่อการผันผวนของสถานการณ์ ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ คงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขัน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพจากการลดต้นทุน สามารถผลิตได้รวดเร็ว ลดการสูญเสีย นอกจากนี้ ต้องมีคุณภาพการผลิตที่ดี วัตถุดิบที่ดี กระบวนการการผลิตที่ดีด้วย ซึ่งแผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพฯ ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นั้น จะเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยจะส่งเสริมภาคเอกชนให้สามารถพัฒนาตนเอง โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา สถาบันไฟฟ้าฯ ได้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีโครงการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และบุคลากร รวมทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนานวัตกรรมการใช้ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) เพื่อจัดการการใช้พลังงานและการผลิต โครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โครงการพัฒนาด้านการเพิ่มผลผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการ (Green Productivity Integration) โครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตของ SMEs โครงการส่งเสริมการสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงธุรกิจด้วยมาตรฐาน RosettaNet/XML นายเสกสรรค์ ศาสตร์สถิต รักษาการผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังให้น้ำหนักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้อยไป รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในการผลิตยังต้องมีการพัฒนา โดยสถาบันไฟฟ้าฯ กระทรวงอุตสาหกรรม เนคเทค และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมมือกันในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาช่วยในด้านการผลิตมากขึ้น เช่น ปัจจุบันก็เริ่มมีการพัฒนาการผลิตอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น หรือการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปช่วยในภาคเกษตรกรรม เช่นนำระบบนวัตกรรมสมองกลฝังตัว (Embedded System) มาใช้กับเครื่องผสมปุ๋ย หม้อหุงข้าว เป็นต้น นายวิรัตน์ อาชาอภิสิทธิ์ รองเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศในยุโรป จะใช้วิธีการลดกระบวนการตรวจสอบสินค้า แต่จะใช้วิธีการให้ผู้ผลิตตรวจสอบตัวเอง โดยมีหน่วยงานกลาง เช่น สถาบันไฟฟ้าฯ ทำการตรวจสอบตลาดเพื่อติดตามและเผ้าระวังอย่างเข้มแข็ง ซึ่งวิธีนี้ผู้ผลิตต้องสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเอง ส่วนประเทศในอาเซียนที่กำลังปรับตัวเข้าสู่การค้าเสรีอาเซียน (AEC) สินค้าที่จะอยู่รอด จะต้องมีคุณภาพที่ดี ได้มาตรฐาน ดังนั้น ควรมองประเทศในยุโรปเป็นตัวอย่าง โดยประเทศในอาเซียนควรมีการกำหนดมาตรการตรวจสอบและรับรองที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น มาตรการการรับรองด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และมาตรฐาน IEC เป็นต้น และอาจให้ผู้ผลิตเริ่มปรับตัวในการตรวจสอบตัวเองมากขึ้น นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับตัวเรื่องการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมนั้น มีความสำคัญและช่วยในการปรับตัวกับเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ นอกจากนี้ ยังช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันได้ โดยการจัดการโลจิสติกส์ จะประกอบไปด้วย 3 มิติ ได้แก่ การบริหารต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ ซึ่งจากการศึกษาของมูลของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ส่วนใหญ่กระบวนการทางธุรกิจยังไม่ได้มาตรฐานรองรับการใช้งานระบบ ERP บุคลากรยังขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และยังขาดระบบการเชื่อมโยงข้อมูลภายในสถานประกอบการ นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าฯ กล่าวตอนท้ายว่า สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นกำลังสำคัญที่จะมีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆด้านการผลิต ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคต และจะเป็นตัวกลางภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้แข็งแกร่ง ทัดเทียม และสามารถแข่งขันในยุคการค้าเสรีอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ