กระทรวงการคลังยืนยันศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมแจ้งวัฒนะมีความพร้อมทุกอย่าง รองรับได้เพิ่มอีกกว่า 400 คน

ข่าวทั่วไป Thursday October 20, 2011 16:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแจ้งวัฒนะของกระทรวงการคลังมีความพร้อมทั้งสถานที่ บุคลากร และหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุน อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และภาคประชาชน ส่งทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นิสิต นักศึกษา สามารถรองรับผู้ประสบภัยที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกให้ได้รับความสะดวกสบาย และช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตให้ดีขึ้น ทั้งด้านที่พักอาศัย การรักษาพยาบาล อาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกจำเป็นอย่างครบครัน วันนี้ (19 ตุลาคม 2554) ณ กระทรวงการคลัง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เดินทางมาจากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ศูนย์ธรรมศาสตร์รังสิต มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยรอบ เพื่อมาพักอาศัยเป็นการชั่วคราว ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงการคลังได้จัดเตรียมสถานที่ไว้พร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องอุปโภค บริโภค ที่จำเป็น เช่น ห้องพัก นอน อาหารปรุงสุกครบทุกมื้อ น้ำดื่ม ยารักษาโรค โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้ามาสนับสนุนจำนวนมาก อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก สหทัยมูลนิธิ องค์กรช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรูมูฟ จำกัด (มหาชน) สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้จัดส่งบุคลากร ทีมแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นิสิต นักศึกษา อาสาสมัคร นายธีระชัย กล่าวต่ออีกว่า จากรายงานยอดผู้ประสบภัยที่เข้ามาพักอาศัย ณ ปัจจุบันมีจำนวน 372 คน ซึ่งสถานที่ของศูนย์ราชการฯ สามารถรองรับได้เพิ่มอีกประมาณ 400 คน โดยเราจะเน้นการดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต เพื่อให้ผู้มาอาศัยที่นี่ได้รับความสุขสบายเสมือนได้อยู่บ้านของตนเอง และลืมความทุกข์จากเหตุภัยพิบัติ ดังนั้น จึงได้มีการจัดระบบคัดกรองประชาชนที่เข้ามาอาศัยเป็นการชั่วคราว โดยทีมนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา จัดทำประวัติ ถ่ายรูปติดบัตร เพื่อป้องกันความปลอดภัยและมิจฉาชีพ โดยอาศัยฐานข้อมูลและประสบการณ์จากศูนย์ช่วยเหลืออื่นๆ มาปรับปรุงป้องกันที่ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ ซึ่งจะแบ่งโซน แบ่งสีตามสถานภาพ ได้แก่ ที่พักสำหรับคนโสดชาย หญิง ครอบครัว ผู้สูงอายุ บางส่วนแบ่งพื้นที่เป็นมุมสำหรับเด็ก มุมอ่านหนังสือ สันทนาการ ส่วนพื้นที่ภายนอกอาคารมีห้องน้ำแบ่งเป็นชาย หญิง มีลานจัดเตรียมอาหารและรับประทานอาหาร ลานกิจกรรม ราวตากผ้า และพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง สำหรับอาหารจะปรุงสุกทุกมื้อ น้ำดื่มสะอาดบรรจุขวด มีบริการฟรี เช่น โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต เติมเงินมือถือ ตัดผม นอกจากนั้นยังมีทีมแพทย์ พยาบาล ตรวจรักษาโรคตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลรามาธิบดีกรณีเหตุฉุกเฉินและอาการหนัก ทั้งนี้ได้มอบหมายให้นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เร่งกำกับกรมธนารักษ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย และหน่วยงานที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างรวดเร็วให้ทันกับเหตุการณ์ โดยให้รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ได้รายงานความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2554 เวลา 12.00 น. ดังนี้ สถานการณ์ทั่วไป (ตั้งแต่วันที่ 16 — 19 ตุลาคม 2554) - ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมที่อพยพมาจากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี และพื้นที่โดยรอบที่ได้รับความเดือดร้อน ขณะนี้มาอาศัยพักพิงชั่วคราวจำนวน 372 คน แบ่งออกเป็น ชาย 72 คน หญิง 163 คน ผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) ชาย 6 คน หญิง 8 คน เด็กชาย 68 คน เด็กหญิง 60 คน - สัตว์เลี้ยง จำนวน 5 ตัว แบ่งเป็น สุนัข 4 ตัว กระต่าย 1 ตัว - ยอดผู้ป่วย (จากโรงพยาบาลรามาธิบดี และศูนย์ปฐมพยาบาลสำนักงานสาธารศุขจังหวัดอุดรธานี) จำนวน 81 ราย โรคที่พบได้แก่ โรคเบาหวาน 5 ราย โรคความดันโลหิตสูง 4 ราย ภาวะเครียด 2 ราย ปวดท้อง 15 ราย ไข้หวัด 10 ราย ปวดกล้ามเนื้อ 24 ราย ท้องเสีย 3 ราย โรคผิวหนังและเชื้อรา 14 ราย ล้างแผล 14 ราย หน่วยงานที่เข้าร่วมสนับสนุน - ภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี - ภาคเอกชนและองค์กร ได้แก่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก สหทัยมูลนิธิ องค์กรช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรูมูฟ จำกัด (มหาชน) - สถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - ภาคประชาชน อาทิ บริการตัดผมโดยอาจารย์ศรีโรจน์ แสนทรัพย์ - ประชาชนที่มาร่วมบริจาค แบ่งเป็น สิ่งของ เสื้อผ้า เครื่องใช้ จำนวน 80 ราย เงินสด 130 ราย จำนวนเงินประมาณ 35,000 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและร่วมบริจาคสิ่งของสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0 2143 1444 (20 คู่สาย) ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ http://www.dad.co.th/coverpage/flooding

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ