มทร.ธัญบุรี : สกู๊ป “บุญคุณต้องทดแทน ผมจะช่วยมหาวิทยาลัยทุกอย่างเมื่อมีโอกาส“

ข่าวทั่วไป Tuesday December 13, 2011 17:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--มทร.ธัญบุรี “ความรับผิดชอบ การแบ่งเวลา ให้ถูกต้อง และที่สำคัญความอดทนต้องมีเยอะๆ” เสียงที่มุ่งมั่นของ “โต๊ะ” นายเอกชัย แซ่คู นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โต๊ะ เล่าว่า ทางบ้านมีฐานะไม่ค่อยสู้ดีนัก ซึ่งทางบ้านมีลูก 3 คน เป็นคนกลางและเป็นลูกคนเดียวที่กำลังศึกษาในระดับปริญญา โดยพี่ชายและน้องชายไม่ได้เรียนต่อ หลังจากที่เรียนจบในระดับชั้น ปวช. จากเทคนิคสมุทรปราการ ออกมาทำงานเพื่อเก็บเงินเรียนต่อ เริ่มทำงานที่แรกที่สนามกอล์ฟ “ตอนนั่นงานอะไรที่ได้เงินทำหมด” จากนั้นก็ย้ายมาทำงานที่ เรือสินค้าสมุทรสาคร ส่งออกปลาไปประเทศอินโดนิเซีย ทำงานไปได้ซักพัก รู้สึกว่าชีวิตบนเรือค่อนข้างเสี่ยง จึงตัดสินใจลาออก มาสมัครงานที่โรงงานพลาสติก ซึ่งตอนนั้นพี่ชายอยากให้เรียนต่อ จึงตัดสินใจลาออกจากที่ทำงาน บวกกับตอนนั้นมีเพื่อนทำงานที่สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ แนะนำให้มาเรียนที่ มทร.ธัญบุรี ในความคิดส่วนตัว “อยากที่จะเรียนและทำงานไปด้วย” จึงเลือกเรียนภาคสมทบ พร้อมทั้งสมัครงานเป็นเจ้าหน้าที่ช่างเทคนิค สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สังกัดอาคารและสถานที่) ซึ่งเวลาเรียนกับเวลาทำงานไม่ตรงกันอยู่แล้ว ปกติจะเรียนช่วงเย็นของวันจันทร์-วันศุกร์และวันเสาร์ วันอาทิตย์ ตั้งแต่ 08.00 น. - 16.00 น. มีบางครั้งที่ต้องสละเรียน เพื่องาน แต่ไม่มีปัญหา ถ้าเรียนไม่ทันจะนัดเพื่อนติวให้ “ผมใช้วุฒิ ปวส. ทำงาน เงินเดือนประมาณ 7000 กว่าบาท แต่ผมกู้เงิน กยศ.ด้วย” ไม่อยากจะรบกวนเงินที่บ้าน “โชคดีที่ทางบ้านให้กำลังใจ จึงมีกำลังใจในการทำงาน” งานช่างเทคนิค ให้ความรู้และประสบการณ์ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการเรียนได้ ที่สำคัญให้สังคมใหม่ๆ ได้รู้จักเพื่อน พี่ น้องที่ทำงาน มีคนถามว่า “เหนื่อยไหม เหนื่อยซิครับ” คณะวิศวกรรมศาสตร์ เรียนค่อนข้างยาก แต่เพื่ออนาคตที่ดี “อดทนลำบากตอนนี้ อนาคตรออยู่” ระยะเวลา 4 ปี ที่ต้องเรียนและทำงานไปด้วย สิ่งที่ได้รับ คือ ความรับผิดชอบและการกล้าตัดสินใจ เมื่อเจอปัญหาจึงไม่มีอุปสรรคมากมาย พ่อแม่สอนเสมอว่า “บุญคุณต้องทดแทน” มทร.ธัญบุรี ให้ทั้งความรู้และอาชีพ จึงอยากจะตอบแทนบุญคุณมหาวิทยาลัยฯ ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ “ผมจะช่วยมหาวิทยาลัยฯ ทุกอย่างเมื่อมีโอกาส” อุทกภัยที่ผ่านมาสร้างความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัยฯ จำนวนมาก “ผมไม่มีเงินทองช่วยเหลือ” ได้แต่เอาแรงเข้าช่วย ตอนน้ำท่วมต้องย้ายไปตั้งเว็บไซต์สำรองที่ จ.กาญจนบุรี เนื่องจากภายในมหาวิทยาลัยฯ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ระยะ 10 วัน หลังจากนั้นก็ได้ย้ายมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยฯ ในสภาวะยังไม่มีไฟ แต่ก็ติดต่อประสานใช้น้ำไฟฟ้าสำรองเข้ามา หลังจากที่สภาวะปกติ สามารถใช้ไฟฟ้าสำรองได้ ทีมงานเข้ามาติดตั้ง server เพื่ออัพเดตข้อมูลต่างๆ ดูแลระบบงานไฟฟ้า ตรวจเช็กระบบไฟฟ้า “สิ่งไหนที่เราสามารถทำได้ ควรจะทำไม่ต้องรอให้ใครสั่ง ความดีไม่มีคำว่าสาย” โต๊ะ กล่าวทิ้งท้าย ด้านนายพงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เล่าว่า รู้สึกประทับใจในความทุ่มเทเสียสละอดทน และช่วยงานมหาวิทยาลัยฯ นับตั้งแต่เกิดอุทกภัยจนวันที่มหาวิทยาลัยฯ สามารถเปิดทำงานได้ดังเดิม “ทำทุกอย่างที่เห็นว่าจะช่วยงานได้โดยไม่มีเงื่อนไข ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของเยาวชนคนรุ่นใหม่” ต้องขอขอบคุณมีโอกาสหลังจากจบการศึกษาผมก็ตั้งใจว่าจะชวนมาทำงานที่มหาวิทยาลัยฯ ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ