๑๔ จังหวัดภาคใต้ ถกมติขาเคลื่อน เร่งหาเสียงร่วมชงสมัชชาฯ ชาติ ชูวาระหลัก “จัดการภัยพิบัติ”

ข่าวทั่วไป Tuesday January 17, 2012 19:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--สช. เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ จัดเวทีใหญ่ติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสามปีที่ผ่านมา พร้อมหาฉันทามติต่อข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติ และหาความเห็นร่วมสมาชิก (One Voice) ต่อหกร่างมติสมัชชาฯ ครั้งที่ ๔ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ได้จัดการประชุม สมัชชาสุขภาพภาคใต้ ครั้งที่ ๒ และงานวิชาการ “ไอดิน กลิ่นใต้” ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ มกราคม ๒๕๕๕ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ตรัง อ.เมือง จ.ตรัง เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาภาคใต้ด้วยตนเอง โดยพิจารณาความคืบหน้าในการผลักดันมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓ สามประเด็น และระดมทัศนะจากทุกเครือข่าย เพื่อยกร่างข้อเสนอร่วมในการจัดการภัยพิบัติ พื้นที่ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งพิจารณาหาความเห็นร่วม (ONE VOICE) ต่อร่างข้อเสนอฯ ทั้งหกระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๔ ได้แก่ ๑.การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง ๒.การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน ๓.การจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น) ๔.การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ๕.ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ และ ๖.การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ นายแพทย์วิฑูรย์ เหลืองดิลก ประธานจัดสมัชชาสุขภาพภาคใต้ กล่าวว่า การจัดสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ครั้งที่ ๒ และงานวิชาการ “ไอดิน กลิ่นใต้” เป็นการจัดร่วมระหว่างภาคีเครือข่ายทั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ โดยมีจังหวัดตรังและพัทลุง เป็นเจ้าภาพหลัก หรือฝ่ายเลขาฯ กิจกรรมสำคัญภายในงานคือ ๑.การติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๒.การพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ ๓.งานวิชาการ “ไอดิน กลิ่นใต้” และ ๔.การหาความเห็นร่วม (One Voice) ของสมาชิกเครือข่าย ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๔ นายแพทย์วิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า การจัดสมัชชาสุขภาพภาคใต้ฯ ครั้งนี้ ได้มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๔ ซึ่งมีการจัดกระบวนการที่เป็นระบบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กำหนด และเป็นไปตามเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติที่สนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม นางเบญจา รัตนมณี หนึ่งในคณะทำงานวิชาการประเด็นการจัดการภัยพิบัติโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง เปิดเผยถึงเป้าหมายหลักของการประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ซึ่งปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ “เราต้องการหาความเห็นร่วม หรือ ONE VOICE ต่อประเด็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งนี้ ทั้งหกเรื่อง อีกวัตถุประสงค์คือการระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคใต้ทั้ง ๑๔ จังหวัด ต่อการกำหนดนโยบายในการจัดการภัยพิบัติโดยให้ชุมชนระดับท้องถิ่นเป็นฐาน ส่วนรัฐคอยหนุนเสริมความต้องการของท้องถิ่น” แนวทางการจัดการภัยพิบัติในทัศนะของคณะทำงาน เบื้องต้น จำแนกออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ การจัดการภัยพิบัติระดับภูมิภาค (ภาคใต้) ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น (หรือชุมชน) โดยระดับภูมิภาค ได้วางแนวทางดำเนินการในรูปแบบของข้อเสนอเชิงนโยบาย เตรียมพร้อมนำเสนอยังที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒-๔ กุมภาพันธ์นี้ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ขณะที่แนวทางจัดการระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น จะเชื่อมโยงกับผู้เกี่ยวข้องระดับจังหวัดและท้องถิ่น โดยเฉพาะส่วนราชการที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ด้านนายชาคริต โภชะเรือง เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา ในฐานะคณะทำงานวิชาการประเด็นการจัดการภัยพิบัติฯ กล่าวเสริมในประเด็นเดียวกันว่า “ปัญหาใหญ่คือ เรามีแผนระดับชาติ แผนจังหวัด แผนท้องถิ่น แนวปฏิบัติ ผู้เกี่ยวข้องเต็มไปหมด แต่เมื่อเกิดเหตุก็โกลาหลอยู่ดี เราจึงคิดว่ามันน่าจะมีปัญหาอะไรสักอย่าง กรณีหาดใหญ่เป็นชุมชนเมือง มีเทศบาลเป็นร้อยชุมชน แต่มีแผนชุดเดียว ซึ่งใช้ครอบคลุมไม่ได้หมด เราจึงต้องแตกย่อยไปอีกร้อยชุมชน สำรวจว่าแต่ละซอย น้ำมาจากไหน ดูประชากรในพื้นที่ บ้านไหนป่วย บ้านไหนพิการ ใช้กระบวนการตรงนี้ ทำให้ประชาชนกลับมาพลิกฟื้นความสัมพันธ์กันได้” ปัญหาเรื่องการจัดการภัยพิบัติถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขและวางแผนป้องกันในระยะยาว เนื่องจากความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาตินั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาคใต้ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ ๖ ประเภท ได้แก่ น้ำป่า โคลนถล่ม น้ำท่วม สึนามิ พายุหมุนเขตร้อนในอ่าวไทย และการกัดเซาะชายฝั่ง “เราฝากทั้งหมดไปที่หน่วยงานรัฐ แต่ทุกวันนี้ หน่วยงานรัฐแยกส่วนทั้งหมด ปัญหาใหญ่คือว่าใครเป็นคนประสาน เป็นฐาน มันหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ฉะนั้นต้องคู่ขนานไปในระดับชุมชน ให้ชุมชนได้ตื่นตัว เรียนรู้ กลับเอาสัมพันธ์ที่เคยหายไปกลับคืนมา” นายชาคริต กล่าวสรุป นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความสำคัญของ “สมัชชาสุขภาพ” ในฐานะเครื่องมือที่อำนวยให้คนในพื้นที่กำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านเกิดของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ “สมัชชาสุขภาพเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหนึ่งที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนมาพบกัน หารือร่วมกันในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ที่สำคัญคือเป็นข้อเสนอที่มาจากคนในพื้นที่ ไม่ใช่มาจากส่วนกลาง” ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีนโยบายใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพนำร่องเพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงกระบวนการในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ