มรภ.สงขลา จับภาพดาราศาสตร์แห่งศตวรรษ ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์

ข่าวทั่วไป Monday June 11, 2012 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จับมือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ขนอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ จับภาพดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ นักเรียนใต้แห่ชมปรากฏการณ์แน่นขนัด ไม่หวั่นสายฝนที่โปรยปรายมาเป็นระยะ นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ประธานโปรแกรมวิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทางคณะฯ ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์แห่งศตวรรษ ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา แม้ช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ คือเวลา 06.45-11.35 น. จะมีฝนตกเป็นระยะ ส่งผลให้การบันทึกภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวทำได้เป็นระยะ แต่กิจกรรมดังกล่าวก็ได้รับความสนใจจากโรงเรียนต่าง ๆ นำนักเรียนเข้าร่วมชมปรากฏการณ์เป็นจำนวนมาก นายเฉลิมชนม์ กล่าวอีกว่า จังหวัดสงขลาสามารถจับภาพปรากฏการณ์ศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ได้ในเวลา 6.45 น. โดยประเทศไทยมีหน่วยงานที่ร่วมกันเก็บภาพปรากฏการณ์ดังกล่าว 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา และ สงขลา ซึ่งปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก ในรอบ 100 ปีจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2548 และครั้งที่ 2 คือในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 หลังจากนั้นจะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวอีกครั้งใน 105 ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ.2660 “มรภ.สงขลา และสถาบันวิจัยดาราศาตร์แห่งชาติ ทำการเก็บข้อมูลทางด้านดาราศาสตร์ร่วมกับเครือข่ายดาราศาสตร์จากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิหร่าน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยได้ร่วมแสดงศักยภาพการเป็นผู้นำทางด้านดาราศาสตร์ให้ภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้จังหวัดสงขลาจะมีหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน ดำเนินการก่อสร้างโดย มรภ.สงขลา ภายในมีกล้องดูดาวขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 เมตร เป็นระบบออโตเมติดเทโลสโคป พร้อมด้วยกล้องขนาดเล็กที่ทันสมัยอีกประมาณ 30 ตัว พื้นที่นิทรรศการ และโดมฉายดาวแบบดิจิตอล 6 กล้องฉาย จากประเทศรัสเซีย ถือได้ว่าเป็นกล้องที่มีความคมชัดที่สุดในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ให้สร้างในปีงบประมาณ 2556 นี้”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ