KTAMเปิดขาย2กองทุนตราสารหนี้6เดือนชูยิลด์3.10%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 19, 2012 10:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--กรุงไทย นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ บริษัทเปิดจำหน่าย 2 กองทุนประเภทตราสารหนี้ ให้ลูกค้าเลือกลงทุนตามความเหมาะสม ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ บี 52 ( KTSUPB52 ) เสนอขาย 19 - 26 กันยายน 2555 อายุ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท เน้นลงทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วยเงินฝาก Bank of China สาขามาเก๊า และเงินฝากประจำ Abu Dhabi Commercial Bank ในสัดส่วน 44% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนตราสารในประเทศ ได้แก่ เงินฝาก / ตราสารการเงินระยะสั้นธนาคารพาณิชย์ไทย / ตั๋วแลกเงินบริษัทเอกชนไทย โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.10% ต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ท อินเวส 6 เดือน 6 (KTSIV6M6) เป็นกองทุนประเภท Roll Over อายุ 6 เดือน เสนอขายรอบใหม่ ในวันที่ 17 -21 กันยายนนี้ เน้นลงทุนในเงินฝากของ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารธนชาต ในสัดส่วน 40 % ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในตั๋วแลกเงินของภาคเอกชน ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 2.95%ต่อปี สำหรับภาวะการลงทุนในตราสารหนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรงสำหรับตราสาระยะกลางถึงยาว ขณะที่ตราสารระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ค่อนข้างทรงตัว โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากแรงขายทำกำไรหลังจากข้อมูลปริมาณพันธบัตรที่จะออกจำหน่ายได้ในปีงบประมาณ 2556 เผยแพร่สู่สาธารณะ ประกอบกับทิศทางของตราสารหนี้ในต่างประเทศที่มีการปรับตัวขึ้นหลังจากคณะกรรมการกลางยุโรป และสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการผ่อนคลายการเงินผ่านการซื้อพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์จำนองหนุนหลัง (MBS) ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาการณ์ และบางส่วนเริ่มกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะยาว ทิศทางดังกล่าวจะมีทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนมีความลาดชันเพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มการลงทุนในต่างประเทศได้รับอิทธิพลจากการแกว่งตัวของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯที่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับยูโร และสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ โดยเป็นผลพวงจากการคาดกาณ์สภาพคล่องทางการเงินระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต และมีผลให้ต้นทุนการกู้ยืมดอลลาร์ปรับลดลง ดังนั้น ค่าดอลล่าร์พรีเมี่ยมที่เกิดจากการทำสวอปข้ามสกุลเงินระหว่างบาทและดอลล่าร์สหรัฐฯ ยังทรงตัวในระดับสูง และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารต่างประเทศภายหลังการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ