กสทช. มั่นใจเดินหน้าผลักดันการประมูล 3G เต็มกำลังหลังศาลมีคำสั่งยกเลิก คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวปี 53

ข่าวเทคโนโลยี Monday October 1, 2012 09:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สำนักงาน กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา เพื่อขอจำหน่ายคดี กรณีบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ทำการฟ้องร้อง กทช. ต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1GHz ในคดีหมายเลขดำที่ 1411/2553 และหมายเลขดำที่ 1436/2553 ตามลำดับ และศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ กทช. และสำนักงาน กทช. ระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ศาลสั่งเป็นต้นไป นั้น บัดนี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และให้คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา ลงวันที่ 16 กันยายน 2553 ซึ่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และการดำเนินการต่อไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น สิ้นสุดลง นายฐากร กล่าวว่า เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดี จะทำให้ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องหมดความวิตกกังวลในประเด็นนี้ ทำให้การประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz มีความชัดเจนขึ้น สำหรับ กสทช. เองมีความมุ่งมั่นผลักดันการประมูลครั้งนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้การประมูล 3G ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ ประสบผลสำเร็จ เพื่อจะได้นำเอาคลื่น 2.1 GHz มาให้บริการประชาชน เพื่อการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G สมบูรณ์แบบของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารให้กับประเทศไทยเพิ่มโอกาสในการลงทุน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กรณีเรื่องสัญญา บีเอฟเคที สืบเนื่องจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม มีมติในการประชุมครั้งที่ 23/2555 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 เห็นว่าบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ไม่สามารถควบคุมการใช้งานคลื่นความถี่และรับผิดชอบต่อการกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับคลื่นความถี่ได้อย่างสมบูรณ์ตามนัยมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 47 สั่งให้ บมจ. กสท ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงสัญญาที่เกี่ยวข้องใน 6 ประเด็น และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่เข้าทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบให้บนคลื่นความถี่ 800 MHz กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นต้นมา ว่าเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมบางส่วนของ บมจ.กสท โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เลขาธิการ กสทช. ให้รายละเอียดว่า ภายหลังจาก กทค. มีมติดังกล่าว สำนักงาน กสทช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด กรณีการทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 MHz กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 จากนั้น เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2555 คณะทำงานฯ ได้นำส่งรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อเลขาธิการ กสทช. เพื่อพิจารณา โดยในการทำงานของคณะทำงานฯ ดังกล่าวได้ดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานของตนได้อย่างเต็มที่ ทั้งการชี้แจงด้วยวาจาและเอกสาร ตลอดจนเข้าไปในสถานที่อันเป็นที่ตั้งของเครื่องและอุปกรณ์ ที่สำคัญ เลขาธิการ กสทช. กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555 ตนเองได้มีคำสั่งพิจารณาขยายระยะเวลาการทำงานของคณะทำงานฯ ออกไปจนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2555 เนื่องจากได้พิจารณารายงานของคณะทำงานฯ แล้วเห็นว่า กรณีนี้มีความเกี่ยวข้องกับความรับผิดทางอาญาของบุคคลซึ่งสำนักงาน กสทช. จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบภายใต้กรอบของกฎหมาย และอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ครบถ้วน และมีความเกี่ยวข้องกับความรับผิดทางอาญาของบุคคลซึ่งสำนักงาน กสทช. จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบภายใต้กรอบของกฎหมาย และอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ครบถ้วน ต่อมาบมจ. กสท ได้ยื่นขอขยายระยะเวลาการดำเนินการแก้ไขสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 MHz ที่ทำกับบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด และ กทค. มีมติในการประชุมครั้งที่ 35/2555 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 ให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการแก้ไขสัญญาดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2555 ตามที่ บมจ. กสท ร้องขอ เนื่องจากเห็นว่าทั้งสองบริษัทได้เข้าสู่กระบวนการเจรจาแก้ไขสัญญาแล้ว แต่ยังคงมีกระบวนการในรายละเอียด นายฐากร กล่าวว่า เรื่องสัญญา บีเอฟเคที นี้มีความละเอียดอ่อนต่อการดำเนินการเพราะมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายมิติทั้งที่เป็นกฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา และกฎหมายอื่น ซึ่งการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. จำเป็นต้องรอผลการแก้ไขสัญญาฯ ของทั้งสองบริษัทด้วย เพราะถือเป็นข้อมูลสำคัญประการหนึ่งในการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงในการกระทำและเจตนาของ บีเอฟเคที และผู้ที่เกี่ยวข้อง และเรื่องนี้ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของสำนักงาน กสทช. จึงยังไม่อาจเปิดเผยเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับผลการพิจารณาตรวจสอบได้ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ