จองชัยสงสารแรงงานไทย ดันต่างด้าว-เพิ่มค่าแรงคนไทย

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 1998 12:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--12 ก.พ.--กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
นายจองชัย เที่ยงธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "สถานการณ์แรงงานในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน" ให้สมาชิกชมรมบริหารบุคคล ชลบุรีฟัง ณ โรงแรมบางแสนบีซ รีสอร์ท ชลบุรี โดยมีผู้ประกอบการและลูกจ้างเข้าร่วมฟังกว่า 200 คน
นายจองชัย กล่าวว่า การแก้ไขสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ขณะนี้กระทรวงแรงงานฯ ก็ได้ร่างมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงาน 7 ประการ ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยประมาณการว่าในปี 2541 จะมีแรงงานตกงานกว่าล้านคน ในจำนวนนี้จะเป็นแรงงานที่ยังไม่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่พวกบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาไม่ต่ำกว่า 120,000 คน จากจำนวนเฉลี่ยบัณฑิตจบการศึกษาปีละประมาณ 400,000 คน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานฯ ได้ชี้แนะแนวทางแก้ปัญหานี้ด้วยว่าส่วนหนึ่งจะต้องผลักดันแรงงานต่างชาติซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคนออกนอกประเทศ เพื่อนำแรงงานไทยเข้าทดแทนตำแหน่งที่ว่างเพราะในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยนี้ เราจำเป็นต้องช่วยเหลือคนไทยก่อนเป็นอันดับแรก แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ก็จะต้องบังคับใช้กฎหมายเป็นราย ๆ ไป ฉะนั้นผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างชาติอยู่ก็ควรจะส่งมอบกับทางราชการในระยะเวลากำหนดที่จะประกาศต่อไป
สำหรับสถานการณ์แรงงานอื่น ๆ นั้น นายจองชัยชี้แจงว่า ยังมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องค่าจ้างแรงงาน ด้วยเหตุว่าลูกจ้างต้องการค่าแรงเพิ่มขึ้น ในขณะที่นายจ้างไม่สามารถจะจ่ายให้ได้ตามความจำเป็นของสภาพเศรษฐกิจ กระทรวงแรงงานฯ คงทำได้เพียงเป็นตัวกลางในการช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยตามแนวทางแรงงานสัมพันธ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และในขณะนี้ก็ยังได้เพิ่มเติมด้วยการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีพิเศษ พร้อมมาตรการ 8 ประการ เพื่อให้สอดคล้องรับกับสถานการณ์แรงงานปัจจุบันด้วยการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาร่วมองค์ภาคี เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถยอมรับและนำไปสู่การเจรจาออมชอมกันได้ในที่สุด และตนเห็นว่าเรื่องค่าแรง เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น การก่อหวอดประท้วงก็ควรจะใช้เหตุผลเข้ามากล่าวอ้างจึงจะยอมรับกันได้ แต่ในขณะนี้ทุกฝ่ายควรมุ่งเน้นไปในด้านการปรับปรุงเรื่องสุขภาพมากกว่า โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานนั้นตนเห็นว่าควรมีการปรับปรุงข้อจำกัดในการทำงานลงบ้าง เช่น กรรมกรแบกข้าวสาร ควรลดพิกัดจากกระสอบละ 100 กิโลกรัมลงมาเหลือเพียง 50 กิโลกรัม เพราะเพื่อร่างกายจะได้ไม่ทรุดโทรมจนเกินไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ