อย.เผยผลอาหารพบสารบอแรกซ์

ข่าวทั่วไป Tuesday August 10, 1999 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--10 ส.ค.--อย.
อย.เผยผลการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารตามท้องตลาดในช่วงปี 41 และ 42 เกี่ยวกับการใช้สารบอแรกซ์ในอาหาร ประเภทต่าง ๆ พบแนวโน้มในการใช้สารบอแรกซ์ในอาหารลดลงแต่ อย.มิได้ นิ่งนอนใจ ยังคงมีการตรวจสอบเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งออกตรวจเองและไปตรวจร่วมกับหน่วยงานเอกชน อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัย ขอแนะให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการซื้อหมูบด โดยซื้อหมูเป็นชิ้นมาล้างให้สะอาดและบดหรือสับเอง เพราะจากสถิติมักพบสารบอแรกซ์ในหมูบดสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่
นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าตามที่ข่าวทางหนังสือพิมพ์เผยถึงการให้ข้อมูลของนักวิเคราะห์อาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ในปี 2541 ตรวจพบสารบอแรกซ์ 169 ตัวอย่าง จาก 202 ตัวอย่าง คิดเป็น 83% นั้น อาจทำให้เข้าใจผิดว่าอาหารส่วนใหญ่ในท้องตลาดมีการใส่สารบอแรกซ์ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเพราะตัวอย่างที่ อย.ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจนั้น มีการทดสอบเบื้องต้นด้วยชุดตรวจสอบบอแรกซ์แล้วว่ามีบอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่ จึงเก็บส่งวิเคราะห์เพื่อดำเนินคดี ทำให้เปอร์เซนต์การตรวจพบดูเหมือนว่าสูง อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบผลการตรวจสอบบอแรกซ์ในอาหารเมื่อปี 2541 และ 2542 พบว่าในปี 2542 มีแนวโน้มว่า มีการใช้สารบอแรกซ์ในอาหารลดลง โดยพบประมาณ 6-10% แต่ถึงกระนั้น อย.ก็มิได้นิ่งนอนใจ ยังคงมีการตรวจสอบเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการดำเนินงาน 2 ส่วนคือ ส่วนหนึ่งเป็นการตรวจโดยกองควบคุมอาหารเอง โดยใช้รถโมบายตรวจสอบเบื้องตัน แนะนำให้ความรู้ หลังจากนั้นก็จะออกเก็บตัวอย่างซ้ำเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายหากยังมีการใช้ อีกส่วนหนึ่ง อย. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมตรวจกับหน่วยงานเอกชน เช่น คณะอนุกรรมการสำรวจคุณภาพสินค้าและปริมาณเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งมี น.พ.บุญเทียม เขมาภิรัตน์ เป็นประธาน นอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือไปยัง กทม.ให้ช่วยตรวจสถานที่จำหน่ายประเภทตลาดสดเพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่
ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้สารบอแรกซ์ส่วนใหญ่ที่พบคือ เนื้อหมูบด จึงขอให้ผู้บริโภคอย่าได้ซื้อหมูที่บดสำเร็จรูปแล้ว ขอให้ซื้อหมูที่เป็นชิ้นมาล้างให้สะอาดและบดหรือสับเอง และหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นแป้งกรุบกรอบ เช่น ทับทิมกรอบ ซ่าหริ่ม หากไม่แน่ใจว่าอาหารที่จะรับประทานมีบอแรกซ์หรือไม่ สามารถทดสอบได้จากชุดทดสอบ ซึ่งซื้อได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่สำหรับโรงเรียนที่จะตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในโรงเรียน ขณะนี้ อย.ยังพอมีชุดทดสอบที่จะให้การสนับสนุนฟรี โดยสามารถติดต่อขอรับได้ที่ กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หมายเลขโทรศัพท์ 590-7179 เฉพาะในช่วงนี้เท่านั้น เพราะชุดทดสอบมีจำนวนจำกัด
สำหรับกรณีที่มีข่าวระบุว่า อย.ละเลยไม่ทำตามกฎพบอาหารพิษไม่ยอมจับปรับนั้น ขอชี้แจงว่า อย.มิได้ละเลยแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม อย. จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น หากเป็นคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว ซึ่ง อย.มีอำนาจเปรียบเทียบปรับ ก็จะทำการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดนั้น แต่ถ้าเป็นคดีที่มีโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย อย.ก็จะส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป แต่มีบางกรณีที่พบว่ามีการกระทำผิดแต่ผู้ประกอบการไม่สามารถทราบได้ว่าอาหารดังกล่าวมีการปนเปื้อน เช่นมีการใส่สารบอแรกซ์ และพบว่าเป็นการทำความผิดครั้งแรก ตลอดจนได้แจ้งเบาะแสผู้ผลิตให้ อย.ทราบ อย.ก็จะดำเนินคดีผู้กระทำผิดในข้อหาจำหน่ายอาหารฝ่าฝืนประกาศกระทรวงฯ ซึ่งเป็นคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว โดยทำการเปรียบเทียบปรับในข้อหาสูงสุด เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการคัดเลือกสินค้ามาจำหน่ายยิ่งขึ้น แต่หากปรากฏว่าต่อมาได้ตรวจพบอาหารผิดอีก อย.ก็จะดำเนินคดีในข้อหาที่มีโทษฉกรรจ์ รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด--จบ--

แท็ก อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ