กรุงเทพมหานคร รวมพลคนเมือง

ข่าวทั่วไป Thursday April 24, 2014 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--กรุงเทพมหานคร กทม. จัดงานมหกรรม “รวมพลคนกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯปลอดภัย ไร้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ผนึกกำลังคนกรุง 50 เขต สร้างเครือข่ายกรุงเทพฯปลอดภัย เดินหน้ารณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อเด็กและสตรี สานต่อนโยบายป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ตั้งเป้าให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งความปลอดภัย มหานครแห่งความสุข และมหานครแห่งโอกาสของทุกคน นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า “ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคมนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันป้องกัน แก้ไขปัญหา ตลอดจนร่วมกันประชาสัมพันธ์ เชิงรุกให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยกรุงเทพมหานครได้กำหนดนโยบายที่จะเสริมสร้างให้ชุมชนเข้มแข็งปลอดภัย เพื่อการพัฒนากรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เช่น สำนักพัฒนาสังคม, สำนักการแพทย์, สำนักอนามัย และสำนักงานเขต เป็นแนวร่วมสำคัญที่จะผลักดัน ให้โครงการประสบความสำเร็จ โดย กทม.ได้จัดตั้งกองทุนป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ในวงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งได้มีการออกระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยกองทุนป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2551” นางผุสดี กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับงานมหกรรม รวมพลคนกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯปลอดภัย ไร้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ในวันนี้จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนกรุงเทพฯ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงของตนเองและสมาชิกในครอบครัว ชุมชนและสังคม เพื่อนำเสนอนโยบาย แนวทางการดำเนินงานด้านการยุติความรุนแรงอย่างเป็นระบบและนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในการเฝ้าระวังและให้การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงอย่างเป็นระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยผู้ที่เข้ามาร่วมงานในวันนี้ ประกอบด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการยุติความรุนแรง ได้แก่ ผู้นำชุมชน แกนนำสตรี หรืออาสาสมัครศูนย์รับแจ้งเหตุและบริการครอบครัว ในชุมชนพื้นที่ 50 เขต , ผู้แทนองค์กรภาครัฐภาคเอกชนที่ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับการสร้างการมีส่วนร่วมกับกรุงเทพมหานครกับภาคประชาชนนั้น ได้มีการดำเนินการ ในรูปแบบคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ โดยเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนในส่วนผู้แทน ภาคประชาชนที่ได้รับการเลือกจากกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต 6 กลุ่มเขต กลุ่มเขตละ 1 คน รวม 6 คน เข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อเป็นแนวร่วมในการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของภาคประชาชนให้มีความเข้าใจ ตระหนักรู้และสามารถนำเสนอปัญหาพร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ครอบคลุมทุกภาคส่วน และเพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการบริหารกองทุนป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางป้องกัน และช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์ โดยกองทุนฯ ได้สนับสนุนงบประมาณให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดทำโครงการ “การวิจัยเพื่อสำรวจและประเมินกลไกการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาการดำเนินโครงการ รวมทั้งวางนโยบายและยุทธศาสตร์ในการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน โดยรูปแบบการศึกษาวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ศึกษากลไกที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ในส่วนของศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีในโรงพยาบาลศูนย์บริการสารธรสุขและสำนักงานเขต 50 เขต , ส่วนที่ 2 ศึกษาศูนย์รับแจ้งเหตุและบริการครอบครัว ในชุมชน , ส่วนที่ 3 สำรวจข้อมูลการปฏิบัติการจริงขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัว และส่วนที่ 4 จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษาวิจัยและรับฟังข้อเสนอแนะ นางผุสดี กล่าวว่า “ กรุงเทพมหานคร หวังว่าการจัดงานมหกรรมรวมพลคนกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ ปลอดภัยไร้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคประชาชน และภาครัฐ เพื่อให้การร่วมสร้างกรุงเทพฯปลอดภัยไร้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน และนำไปสู่เป้าหมายสำคัญในการทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งความปลอดภัย มหานครแห่งความสุข และมหานครแห่งโอกาสของทุกคน ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ