มาตรการลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน LTF ควร .... อยู่หรือไป

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 18, 2014 12:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--PRDD มาตรการลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน LTF ควร .... อยู่หรือไป โดย สมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ เมื่อ 10 ปีที่แล้วภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานของการออมและการบริหารเงินเพื่ออนาคต จึงได้ริเริ่มให้มีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ กองทุน LTF เพื่อให้ผู้ลงทุนนอกจากจะได้ใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษีได้สูงสุดถึง 15% ของรายได้ในแต่ละปี แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาทแล้วยังเป็นการออมเงินระยะยาวอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากนักลงทุนและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเห็นได้จากเม็ดเงินลงทุนผ่านกองทุน LTF มีทั้งสิ้นประมาณ 2.3 แสนล้านบาท ในช่วงนี้จึงมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ได้ออกมาพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาตลาดทุนของไทย หากมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเรายังคงมีข้อสงสัยว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดโดยรวมอย่างไร แต่ละฝ่ายอาจจะต้องมานั่งทบทวนว่าผลดีหรือผลเสียจะเกิดมากกว่ากัน หลายๆท่านอาจไม่ทราบว่าจริงๆแล้วสิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่ได้มีเฉพาะบ้านเรา ประเทศใหญ่ๆที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเค้ามีกันมานาน เพียงแต่รูปแบบของต่างประเทศจะออมผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension Fund) และทำให้ได้เห็นวิวัฒนาการของ Pension Fund ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นทุกปี และเป็นกองทุนที่มีบทบาทมากต่อการพัฒนาตลาดทุนให้มีความเข้มแข็ง เพราะโดยทั่วไปการลงทุนของ Pension Fund ของประเทศที่มีกองทุนขนาดใหญ่และพัฒนาแล้ว จะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ในสัดส่วนที่สูง และเมื่อเร็วๆนี้ ผมมีโอกาสพบกับผู้จัดการกองทุนของยุโรปที่ดูแลเงินออมขนาดใหญ่กว่า 50 พันล้านยูโร ทำให้ได้เห็นมุมมองที่น่าสนใจ โดยเค้าให้ความเห็นว่า ในยุโรปก็เคยทำกองทุน LTF มาก่อน และรัฐบาลก็มีการสนับสนุนกันยาวนานถึง 20 ปี ก่อนจะเลิกไป ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและเชื่อมั่นในตลาดทุน โดยมีพฤติกรรมการลงทุนในหุ้นระยะยาวเพื่อการเกษียณ เพราะการลงทุนตราสารหนี้อย่างเดียวไม่สามารถชนะเงินเฟ้อได้ โดยสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของประเทศเค้าจะสูงถึง 20-60% ขึ้นอยู่กับว่าสภาวะตลาดในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ในขณะที่ปัจจุบันกองทุนการออมเพื่อการเกษียณของคนไทยไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูงสุดแค่ 10% นิดๆ และถ้าถามว่าแล้วเมื่อไหร่เราควรเลิก LTF คำตอบก็คงกลับไปที่พฤติกรรมของนักลงทุนต้องเปลี่ยนก่อน คือถ้าตัวเลขสูงถึง 30-40% นั่นหมายถึงว่านักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจกับตลาดทุนและไม่หวาดวิตกกับความผันผวนแล้ว ผลดีอีก 2 เรื่องคือการที่มีนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ในตลาดสามารถช่วยสร้างบาลานซ์ เพราะเงินจาก LTF และ RMF ก็มาจากรายย่อยที่นำเงินมารวมกัน ทำให้ตลาดมีเสถียรภาพหลุดพ้นจากการเป็นของเล่นของเฮดจ์ฟันด์ต่างประเทศ ตรงนี้ทำให้ผมมองย้อนกลับไป 10-20 ปี ที่ตลาดหุ้นบ้านเราขึ้นกับนักลงทุนต่างประเทศ ถ้าฝรั่งซื้อหุ้นบวก ฝรั่งขายหุ้นลบ ไม่ต้องดูอย่างอื่น ปัจจุบัน เห็นชัดว่านักลงทุนสถาบันของเราเริ่มมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก อย่างข่าวรัฐประหารที่ผ่านมาตลาดหุ้นบ้านเราปรับลดลงนิดเดียว และมีแรงซื้อกลับทำให้หุ้นเด้งขึ้นมาในระยะเวลาสั้นๆสะท้อนถึงการมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง อีกเรื่องที่ผู้จัดการกองทุนยุโรปบอกว่ามีความสำคัญมาก คือ การเข้ามามีบทบาทการลงทุนของนักลงทุนสถาบันก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยทำให้ตลาดมีความโปร่งใสและการจัดการที่ดี เพราะนักลงทุนสถาบันจะใช้สิทธิออกเสียงในการลงมติที่สำคัญๆของบริษัท เช่น การเลือกกรรมการมาดูแล ควบคุม ธรรมาภิบาลของบริษัท ก่อให้เกิดการปกป้องผลประโยชน์ การบริหารจัดการ วางแผนและมีนโยบายที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีมาตรการป้องกัน ปราบปรามอย่างรัดกุม (Good Governance) เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การต่อหรือไม่ต่อมาตรการลดหย่อนทางภาษี ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละมุมมองว่าใครได้ประโยชน์ แต่ไม่อยากให้มองมุมเดียวว่าเพื่อลดหย่อนภาษีเท่านั้น เพราะจากที่ผ่านมาก็พอจะมองเห็นได้ว่ามีส่วนสำคัญต่อทั้งภาคเศรษฐกิจ การลงทุน และเป็นการบริหารเงินให้แก่คนไทยในอนาคต แต่ควรต้องให้ความรู้นักลงทุนควบคู่กันไป ร่วมกับการบริหารจัดการและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและถูกต้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ