สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 14-18 ก.ค. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 21-25 ก.ค.57

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 21, 2014 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์ และแผนธุรกิจหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 107.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 105.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 101.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ : ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานการลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 15 ก.ค. 2557 นักลงทุนลดสถานะการเข้าซื้อสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 56,323 สัญญา อยู่ที่ 294,735 สัญญา นับเป็นปริมาณการซื้อลดลงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ CFTC เริ่มรายงานข้อมูล ในปี 2552 - Bloomberg รายงานซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 75,000 บาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ระดับ 9.78 ล้านบาร์เรล/วัน อนึ่งซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (OPEC) - Nexen รายงานแหล่งผลิตน้ำมันดิบในทะเลเหนือ Buzzard Field 200,000 บาร์เรล/วัน กลับมาดำเนินการตามปกติในสัปดาห์นี้ภายหลังการซ่อมบำรุงแหล่งผลิตดังกล่าวแล้วเสร็จ - กระทรวงน้ำมันของลิเบียรายงานยอดผลิตน้ำมันดิบล่าสุด ณ วันอังคารที่ 15 ก.ค. 57 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 588,000 บาร์เรล/วัน จากสัปดาห์ก่อน 470,000 บาร์เรล/วัน ภายหลังจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara 340,000 บาร์เรล/วัน กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ - กรมศุลกากรเกาหลีใต้รายงานยอดนำเข้าน้ำมันดิบเดือน มิ.ย. 57 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.9% มาอยู่ที่ 2.4 ล้านบาร์เรล/วัน โดยนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.9% มาอยู่ที่ 148,000 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากเดือน พ.ค. 57 ขณะที่นำเข้าน้ำมันดิบอิรักลดลงจากปีก่อน 36.8% มาอยู่ที่ 214,000 บาร์เรล/วัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - หน่วยงานสารสนเทศทางด้านพลังงานของประเทศสหรัฐฯ Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.ค. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 375.0 ล้านบาร์เรล เป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 6 เดือน กอปรกับอัตราการกลั่นน้ำมันดิบของโรงกลั่นในสหรัฐฯ อยู่ที่ 93.8% สูงสุดในรอบ 9 ปี ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯเฉลี่ย 4 สัปดาห์อยู่ที่ระดับ 8.5 ล้านบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.6% ขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 7.33 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงจากปีก่อน 5.2% - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ค. 57 ลดลง 3,000 ราย อยู่ที่ 302,000 ราย และค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สาขานิวยอร์คเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในรัฐนิวยอรค์ (Empire State Index) ในเดือน ก.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.3 จุด มาอยู่ที่ระดับ 25.6 จุด สูงที่สุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 2553 - สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงาน : อัตราการกลั่นน้ำมันดิบของจีนเดือน มิ.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 680,000 บาร์เรล/วัน และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 540,000 บาร์เรล/วัน อยู่ที่ระดับ 10.22 ล้านบาร์เรล/วัน สูงที่สุดในรอบ 4 เดือนหลังจากสิ้นสุดฤดูกาลโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง : อัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในไตรมาส 2/57 เติบโตที่ระดับ 7.5% ซึ่งสูงกว่าผลสำรวจจากนักวิเคราะห์สำนัก Bloomberg ที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.4% ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือน มิ.ย. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.2% บ่งชี้การลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคตามนโยบายของนาย หลี่ เค่อเฉี่ยงนายกรัฐมนตรีที่สามารถกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ - สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน National Bureau of Statistics (NBS) รายงานการบริโภคน้ำมันในเดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 10.2 ล้านบาร์เรล/วัน สูงสุดในรอบ 17 เดือน และเพิ่มขึ้น 8.4% จากเดือนก่อนเนื่องจากโรงกลั่นกลับมาดำเนินการหลังเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงในเดือน เม.ย. และ พ.ค.57 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเนื่องจากนักลงทุนเทขายเพื่อทำกำไรจากระดับราคาที่พุ่งขึ้นสูงในช่วงก่อนหน้านี้ กอปรกับนักลงทุนเคลื่อนย้ายการลงทุนโดยการเข้าซื้อทองคำ และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทดแทน เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองของโลก อาทิ เครื่องบินของสายการบิน Malaysian Airlines ถูกยิงตกในภาคตะวันออกของยูเครนบริเวณชายแดนติดกับรัสเซีย และกองทัพบกของอิสราเอลบุกเข้าสู่บริเวณฉนวน Gaza อย่างไรก็ตามลูกค้าในภูมิภาคเอเชียบางส่วนลังเลที่จะเข้าซื้อน้ำมันดิบของรัสเซียที่ส่งออกมาทางท่อขนส่ง ESPO เนื่องจากเกรงว่าจะละเมิดมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ต่อรัสเซีย ทั้งนี้ให้จับตามองการเจรจาระหว่างอิหร่านและกลุ่มมหาอำนาจ 6 ชาติ (P5+1) ที่ตกลงจะขยายระยะเวลาการเจรจาเรื่องการชะลอโครงการปรมาณูของอิหร่านเพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านออกไปอีก 4 เดือน จากเดิมที่ทั้ง 2 ฝ่ายกำหนดเป้าหมายจะบรรลุข้อตกลงภายในวันที่ 20 ก.ค. นี้ ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ Brent มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 107.06 -110.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 101.07 - 105.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Reuters คาดการณ์ Pertamina ของอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักของภูมิภาคมีแผนนำเข้าเบนซิน 88 RON ในเดือน ส.ค. 57 ลดลงจากเดือนก่อนประมาณ 1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรล เนื่องจากสิ้นสุดช่วงเทศกาลวันตรุษอีฎิลฟิตร์ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ซึ่งชาวมุสลิมเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกับครอบครัว และญาติพี่น้อง และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.19 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 11.00 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียอยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุง อาทิ มาเลเซีย และอินเดีย โดย Indian Oil Corp ออกประมูลซื้อปริมาณ 290,000 บาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าเบนซิน (95) แกว่งตัวอยู่ในกรอบ 120.70-124.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากโรงกลั่นYangzi ของจีนมีแผนเริ่มดำเนินการหน่วยกลั่นใหม่จำนวน 2 หน่วย ซึ่งประกอบด้วย Hydrocracker และ Hydrotreater 190,000 บาร์เรล/วัน ในช่วงปลายเดือน ก.ค. นี้ และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ของสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.22 ล้านบาร์เรล (10.27%) อยู่ที่ระดับ 13.13 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 54 อย่างไรก็ตามความต้องการน้ำมันดีเซลจากตะวันออกกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบีย และ อาฟริกาตะวันออกแข็งแกร่งเนื่องจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลในตะวันออกกลางช่วงฤดูร้อนเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ Petroleum Association of Japan รายงานญี่ปุ่นส่งออกน้ำมันดีเซลลดลงจากสัปดาห์ก่อน 30.4% ที่ระดับ 710,814 บาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดีเซลแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 117.50-120.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ