นพ.ประเวศ วะสี: กระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม 'บีบคั้น' ประเทศไทยทุกทาง

ข่าวทั่วไป Thursday August 21, 2014 18:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย "การกระจายทรัพยากรในประเทศไทยไม่เป็นธรรมอย่างมาก มากเท่าไหร่ควรวิจัยออกมาให้แน่นอน ปรากฎการณ์ 10:90 และ 90:10 อาจเป็นจริง คือคน 10% เป็นเจ้าของทรัพยากร 90% ของประเทศ และคน 90% ของประเทศ เหลือทรัพยากรเพียง 10% เท่านั้น" 21 สิงหาคม 2557 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการเรื่อง "งานวิจัยทางสังคมศาสตร์กับความเป็นธรรมทางสังคม" ณ ห้องประชุมจุมภฏ พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก รำไพพรรณรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้มีการปาฐกถาศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "งานวิจัยทางสังคมศาสตร์เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม" โดยนายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นพ.ประเวศ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมสำคัญที่สุด ซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ โลกวิกฤติทุกวันนี้เป็นวิกฤติแห่งการอยู่ร่วมกัน (Living Together) เพราะไม่ได้ถือหลักการอยู่ร่วมกัน แต่ถือหลักของการแข่งขัน การแสวงหากำไรสูงสุด หากเป็นเช่นนี้โลกจะไม่หายวิกฤติถ้ามนุษยชาติไม่เปลี่ยนแปลงเป้าหมายมาเป็นการอยู่ร่วมกัน ให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด "แม้ในหมู่สัตว์ก็มีธรรมชาติของความเป็นธรรม เพราะความเป็นธรรมทำให้การอยู่ร่วมกันมีความสงบสุข และมีพลังแห่งการยึดเหนี่ยวทางสังคมทำให้สังคมเข้มแข็ง ถ้าขาดความเป็นธรรมแล้วผู้คนจะไม่รักกัน และไม่รักส่วนรวม มีความโน้มเอียงจะเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ ในสังคม รวมทั้งความขัดแย้งและความรุนแรง" นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ขณะนี้การขาดความเป็นธรรมถือเป็นปัญหาใหญ่ของโลก แม้ในหมู่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเจริญแล้ว และมีประชาธิปไตยที่มีวุฒิสภา เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำแบบสุดๆ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอเมริกัน โจเซฟ สติกลิตส์ เรียกความเหลื่อมล้ำอย่างสุดๆ ในอเมริกาว่า เป็นปรากฎการณ์ 99:1 คือการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อคน 1 % เท่านั้น คนจนไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา มิหนำซ้ำกลับเลวลงไปอีก ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่มากเกินสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาทางสุขภาพและทางสังคมนานาชนิด รวมทั้งคำถามเกี่ยวกับประชาธิปไตย "ในหนังสือ Spirit Level ของ Richard Wilkinson และ Kate Pickett ยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคืออังกฤษ ส่วนประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสุดคือญี่ปุ่น รองลงมาคือประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียน หากสังเกตที่ผ่านมาจะเห็นว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากเ ช่น อเมริกาจะเกิดการจลาจลง่าย เช่นนิวออร์ลีนส์ หลังจากโดนเฮอริเคนแคทรีนาถล่ม แต่ที่ญี่ปุ่นเมื่อเกิดสึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูจิชิมาสังคมอยู่ในความสงบร่วมมือกัน ไม่เกิดจลาจล" จากนั้น นพ.ประเวศ ได้ยกตัวอย่างการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 ว่าเกิดการปฏิวัติขึ้นเพราะความเหลื่อมล้ำ แต่การปฏิวัติก็แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ได้ ทุกวันนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังมีอยู่และมากขึ้นด้วยความเหลื่อมล้ำ เป็นการขาดความเป็นธรรมที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลก และยากต่อการแก้ไข ซึ่งความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ - ความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ - ความเหลื่อมล้ำทางสังคม - ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ - ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ เรียกได้ว่า ความเหลื่อมล้ำคนจนก็จนเกินไป อย่างในระบบความยุติธรรมที่เป็นทางการตำรวจจับ อัยการส่งฟ้อง ตุลาการตัดสิน คนจนไม่มีทางเข้าถึงความยุติธรรม เพราะจะเอาเงินและเวลาที่ไหนมาสู้คดี ลำพังทำงานเช้าจรดค่ำทุกวันก็ยังไม่พอจะกินแล้ว หรือกรณีที่ชาวนาถูกฟ้องและดำเนินคดีด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินของตนเอง เพราะความผันผวนของอำนาจรัฐและอำนาจเงิน ชาวบ้านตาดำๆ ยากจนมีอำนาจน้อยมาก เมื่อเทียบกับอำนาจมหึมาของอุตสาหกรรมหมื่นล้านที่มีอำนาจรัฐหนุนหลังที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรและปล่อยมลพิษ "เรารู้สึกว่า การกระจายทรัพยากรในประเทศไทยไม่เป็นธรรมอย่างมาก ซึ่งมากเท่าไหร่ควรวิจัยออกมาให้แน่นอน ปรากฎการณ์ 10:90 และ 90:10 อาจเป็นจริงสำหรับประเทศไทยด้วย คือคน 10% เป็นเจ้าของทรัพยากร 90% ของประเทศ และคน 90% ของประเทศ เหลือทรัพยากรเพียง 10% เท่านั้น" ราษฎรอาวุโส กล่าวด้วยว่า การที่ทรัพยากรส่วนใหญ่ออกไปนอกแวดวงสาธารณะ เหลือทรัพยากรน้อยเกินไปเพื่อคนทั้งประเทศ ก่อให้เกิดความบีบคั้นนานับประการ เช่น เกิดการแย่งชิงฉ้อโกง ประชาชนที่จนเกินตกอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ทำให้เกิดการเมืองแบบธนาธิปไตยที่มีคุณภาพต่ำ คอร์รัปชั่นสูง ทำให้ประเทศติดอยู่ในวังวนความขัดแย้ง และความรุนแรง ดังนั้นการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมจึงเป็นปัจจัยร้ายแรงที่บีบคั้นประเทศไทยทุกทาง สมควรที่สถาบันทางวิชาการทางสังคมศาสตร์จะวิจัยให้ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ทั้งสาเหตุ และวิธีการแก้ไข และนำความรู้ที่วิจัยไปเพิ่มอำนาจให้สังคม เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ยากที่จะแก้ไข ไม่มีใครแก้ได้ นอกจากพลังของพลเมืองที่เข้มแข็ง และพลังพลเมืองจะเข้มแข็งก็ต่อเมื่อเป็นพลังพลเมืองที่รู้ความจริง ขณะเดียวกันหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็มีหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมโดยการสนับสนุนพลังพลเมืองที่รู้ความจริง เนื่องจากสังคมไทยขาดความเป็นธรรมมานานมาก และที่ผ่านมาไม่มีเครื่องรับความเป็นธรรม ดังนั้นทุกคนจะต้องช่วยกัน "การสื่อสารในสาธารณะก็ต้องมีความชัดเจน ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ ต้องพัฒนาการเชื่อมโยง เชื่อมโยงการสื่อสารทุกชนิดให้มีประสิทธิภาพ" ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ : www.isranews.org/thaireform

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ