กระทรวงเกษตรฯ เตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ พร้อมบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง การจ้างงาน และการส่งเสริมอาชีพ

ข่าวทั่วไป Tuesday November 18, 2014 11:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย แถลงข่าวการเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งในปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรง ปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งยังอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงเตือนทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติต์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ และลุ่มน้ำแม่กลอง จำนวน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด และพื้นที่ท้ายเขื่อน จึงขอความร่วมมือให้งดทำนาปรังเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพฝนตั้งแต่ในช่วงฤดูฝนปี 2557 เป็นต้นมา พบว่าทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงภาคตะวันตก ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่นำมาใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรงดทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ที่ให้งดทำนาปรัง ได้แก่ ภาคเหนือ ในพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ภาคกลาง ในพื้นที่ของเขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วย พื้นที่ท้ายเขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ผลิตน้ำประปา รักษาระบบนิเวศน์ โดยไม่ขาดแคลน รวมทั้งเพื่อการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอต่อการใช้ในการดำรงชีพของประชาชนทั้งลุ่มน้ำด้วย อนึ่ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดจ้างงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่งดทำนาปรังนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการรับสมัครเกษตรกรในแต่ละโครงการชลประทาน เพื่อเข้ารับจ้างทำงานในส่วนของกรมชลประทาน ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. 57 ที่ผ่านมา มียอดผู้สมัครรวมกว่า 16,765 คน ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ จะเริ่มทยอยดำเนินการอย่างเร่งด่วนในระยะต่อไป นายนำชัย พรหมมีชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการทุกภาคส่วนให้มีส่วนรวมให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนด้านการปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อบำรุงรักษาดิน กรมปศุสัตว์ สนับสนุนด้านการเลี้ยงพันธุ์ไก่พันธุ์เป็ด กรมประมง สนับสนุนด้านการเลี้ยงพันธุ์ปลา และกรมพัฒนาที่ดิน สนับสนุนด้านการปลูกพืชบำรุงดิน เป็นต้น ทั้งนี้ได้กำหนดขั้นตอนและแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มนำร่องในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 นี้ ที่จังหวัดชัยนาท อยุธยา และสุพรรณบุรี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ