นักวิชาการ ชูประเด็นกระจายอำนาจ หนุนภาคเกษตร-เพิ่มหลักประกันสังคม และให้มีองค์กรติดตามตรวจสอบ เสนอสนช. บรรจุในร่างรธน.

ข่าวทั่วไป Wednesday November 19, 2014 11:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเวทีสัมมนา “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” เพื่อเตรียมจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคมพร้อมทั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อเป็นทิศทางในการกำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นักวิชาการ เสนอให้มีการผลักดันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การปฏิรูปที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมสนับสนุนภาคเกษตรกรรมของประเทศให้อยู่ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ไม่พึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติมากจนเกินไป ทั้งนี้ นักวิชาการเสนอให้มีการประกันราคาข้าวเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและจะต้องพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ความท้าทายประการหนึ่งที่ต้องการจะเห็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือเรื่องหลักประกันทางสังคมที่ควรจะขยายความครอบคลุมให้เข้าถึงแรงงานนอกระบบด้วย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ของประเทศยังขาดหลักประกันในชีวิต นอกจากนี้ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะจะสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนได้อย่างทันท่วงที แต่ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยังไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร รวมทั้งให้มีการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า รัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นเพียงถ้อยคำที่สวยหรู กฎหมายจะเขียนกว้างๆ ไม่ได้แต่ต้องมีการกำหนดกรอบระยะเวลาการบังคับใช้ ระบบเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัญหานำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ นอกจากนี้ การปฏิรูปที่ดินและทรัพยากรรวมถึงระบบภาษีอากรก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน และจะต้องแก้ไขระบบการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึง รวมถึงปรับปรุงเรื่องสาธารณสุขให้มีดีขึ้น โดยเห็นว่าการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนจะเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ นายศรีสุวรรณ ควรขจร คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แสดงความคิดเห็นต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า หลักอันเป็นหัวใจสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้คือเรื่องการกระจายอำนาจ โดยเสนอให้ต้องมีการรับรองหลักสิทธิชุมชนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการตัดสินใจโครงการทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ต้องเป็นการตัดสินใจในลักษณะหลายภาคีโดยท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วม รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันกำลังทำลายโรงเรียนเอกชน ทั้งที่โรงเรียนเอกชนหลายแห่งในต่างจังหวัดมีความสำคัญต่อระบบการศึกษามาก เนื่องจากภาครัฐยังเข้ามาดูแลไม่ทั่วถึง ทางแก้คือการกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากรสู่ชุมชน ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดระบบการศึกษา อีกประเด็นที่สำคัญคือการกำหนดให้ประเทศไทยใช้ระบบการแข่งขันเสรี เป็นธรรม เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าประเทศไทยเป็นระบบเสรีจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง ทั้งนี้ รศ.ดร.นวลน้อย ได้เสนอให้นำเอาพรบ.แข่งขันทางการค้าออกจากระบบราชการ และรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องบัญญัติรองรับในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแสดงความเห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีรากฐานมาจากปัญหาความยากจน ซึ่งปัญหาความยากจนดังกล่าวเกิดมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศไทยจะเติบโตโดยอาศัยการลงทุนจากต่างชาติไม่ได้ เนื่องจากจะไม่เป็นไปตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งประเทศไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แรงงานไทยมีความเสียเปรียบในเรื่องการกระจายรายได้ ความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนบางกลุ่ม แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำแต่ชั่วโมงทำงานสูงซึ่งทำให้กลายเป็นแรงงานที่ขาดคุณภาพ จึงไม่ควรเน้นพัฒนาแต่ภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ควรหันมาให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งการที่เกษตรกรจะอยู่ได้นั้นต้องมีประกันราคาข้าว นอกจากนี้ การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศต้องควบคู่กันไปกับการพัฒนาการถือครองที่ดิน นางศยามล ไกรยูรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวสรุปว่า รัฐจะต้องนำแนวคิดใหม่ๆ ตามที่นักวิชาการเสนอนำมาปรับใช้ ทั้งเรื่องการกระจายอำนาจในลักษณะรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง รวมถึงรัฐจะต้องจัดสรรกระจายทรัพยากรด้านงบประมาณและบุคคล โดยจะต้องทำให้บุคคลในพื้นที่มีความสามารถในการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และรัฐจะต้องสนับสนุนการรวมกลุ่มในทุกรูปแบบสหกรณ์ให้สามารถเข้ามามีส่วนกำหนดการพัฒนาประเทศได้ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาเรื่องสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน อันจะนำมาซึ่งการปฏิรูปที่ดิน นอกจากนี้ รัฐจะต้องปฏิรูประบบสวัสดิการ บำนาญผู้สูงอายุ และการขยายความครอบคลุมด้านหลักประกันให้คุ้มครองแรงงานทั้งในและนอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญกับสวัสดิการของเกษตรกรรวมถึงการปฏิรูปด้านการศึกษาให้คนมีคุณภาพที่จะต้องดำเนินไปพร้อมกัน ทั้งนี้ คปก.จะรวบรวมความเห็นจากเวทีสัมมนาดังกล่าวเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะและภาคประชาชน และเตรียมจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ