ผลกระทบมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท

ข่าวทั่วไป Thursday December 4, 2014 15:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) พร้อมด้วย ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยร่วมกันว่า จากที่คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตาม “มาตรการช่วยเหลือเกษตรผู้มีรายได้น้อย ปีการผลิต 2557/58” เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ดูแลเกษตรกร ให้มีรายได้ที่เหมาะสม ลดต้นทุนการผลิต ช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการผลิต ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และระบบเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น จึงเกิดมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เบิกจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา จำนวน 40,000 ล้านบาท และกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 2.8 ล้านครัวเรือน จาก 3.49 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 88 ของชาวนาทั้งหมด) โดยจะช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท หรือได้สูงสุดรายละ 15,000 บาท เท่านั้น และจ่ายเข้าบัญชี ธ.ก.ส. ให้แก่เกษตรกรโดยตรง (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557) ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวปีผลิต 2557/58 ไร่ละ 1,000 บาท ให้กับ 8 จังหวัดนำร่อง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนครบถ้วน และมีความพร้อมที่สุด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม พิจิตร กำแพงเพชร และพิษณุโลก จำนวนเงินทั้งสิ้น 14,311 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 176.10 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานตามมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท ข้อมูลสะสม ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 สามารถดำเนินการโอนเงินให้เกษตรกร จำนวน 1,296,408 ครอบครัว คิดเป็นพื้นที่ทำนาทั้งหมด 15.30 ล้านไร่ วงเงินจำนวนทั้งสิ้น 15,301 ล้านบาท ทั้งนี้ จากนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลทางศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร จึงได้รวบรวมข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพยากรณ์และชี้วัดในสถานการณ์ที่เกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายดังกล่าว พบว่า มาตรการชดเชยรายได้ที่มีต่อการกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) วิเคราะห์ผ่านแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่รัฐบาลเร่งใช้จ่ายเงินผ่านมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท ในช่วงแรกประมาณ 15,301 ล้านบาท แก่เกษตรกรผู้ผลิตข้าวในข้างต้นนั้น จะช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เพิ่มขึ้น มูลค่ารวม 34,947 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร เป็นมูลค่า 2,570 ล้านบาท และ 32,377 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ดังกล่าว ครบ 40,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 91,357 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.28 เท่าของจำนวนเงินที่ชดเชย โดยแบ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมูลค่า 6,718 ล้านบาท และ 84,639 ล้านบาทตามลำดับ (ภายใต้ข้อสมมติความโน้มเอียงในการใช้จ่ายหน่วยสุดท้าย (Marginal propensity to spend) = 0.95 จากการลงพื้นที่ภาคสนามในจังหวัดลพบุรี) และเมื่อนำค่าประมาณการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน จากการใช้จ่ายมาตรการชดเชยรายได้ 40,000 ล้านบาทมาวิเคราะห์ร่วมกับแบบจำลองทางเศรษฐมิติมหภาค พบว่า การเร่งรัดให้มีการใช้จ่ายผ่านมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท จะสามารถช่วยลดภาระหนี้สินในภาคเกษตรได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 500 บาทต่อปี หรือสามารถลดภาระหนี้ในภาคเกษตรทั้งระบบประมาณ 1,745 ล้านบาท (ครัวเรือนเกษตรผู้ปลูกข้าวที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์มีจำนวน 3.49 ล้านครัวเรือน, ธกส.) ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการสะท้อนภาพในสถานการณ์จริงได้อย่างชัดเจน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ทีมนักวิจัยของศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พื้นที่จังหวัดลพบุรี เพื่อศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรคของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ อ.เมือง อ.ท่าวุ้ง และ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี พบว่า เกษตรกรทำนามาแล้วเฉลี่ย 28.33 ปี มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดเฉลี่ย 34.73 ไร่ เป็นพื้นที่ทำนาเฉลี่ย 30.05 ไร่ ลักษณะการถือครองพื้นที่การทำนาเป็นของตัวเอง ร้อยละ 67.50 เช่าผู้อื่นร้อยละ 7.50 เป็นของตัวเองและเช่าผู้อื่นด้วย ร้อยละ 25 เสียค่าเช่าไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งค่าเช่าที่นามีการเปลี่ยนแปลงค่าเช่าน้อย เพราะระดับราคาข้าวยังไม่เพิ่มมาก (การสุ่มสำรวจของทีมนักวิจัยบางพื้นที่ : 2557) โดยช่วงปลายเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) แบบโอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง (การสุ่มสำรวจของทีมนักวิจัยบางพื้นที่: 2557) พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจที่ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานในการดำเนินงานเบิกจ่าย เกษตรกรมีการนำเงินไปใช้ในการลงทุนครั้งต่อไป เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง เป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นการนำไปใช้หนี้นายทุนและ ธ.ก.ส. การอุปโภคบริโภค ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เชื่อว่าโครงการฯ นี้มีผลทำให้ราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลง มีราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่กระทบต่อค่าเช่าที่นาและค่าจ้างแรงงาน เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจของเกษตรกรที่มีต่อโครงการฯ พบว่าเกษตรกรทั้งหมดมีความพึงพอใจกับโครงการนี้ เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่เป็นระบบดีมาก เจ้าหน้าที่เข้าถึงและให้ความสำคัญใส่ใจเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 1. การเร่งรัดโอนเงินแก่เกษตรกร ให้ได้ตามแผนที่วางไว้และอยู่ภายใต้ข้อมูลที่ครบถ้วน โปร่งใส เป็นธรรม และถูกต้อง เพื่อให้สามารถตรงกับความต้องการของเกษตรกรอย่างรวดเร็ว 2. การเพิ่มช่องทางการปลดหนี้ให้เกษตรกรในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ลดภาระของเกษตรกรที่เป็นหนี้ในระบบอยู่ รวมถึงควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทางการเกษตรให้เหมาะสม 3. การจัดการระบบฐานข้อมูลด้านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เป็นปัจจุบัน ถูกต้องและครบถ้วน โดยให้พิจารณาการจัดระเบียบหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและทั่วถึง 4. การพิจารณารายได้และหนี้สินครัวเรือน ประกอบการวางแผนการจ่ายเงินแก่เกษตรกร เพื่อกระจายรายได้ลำดับก่อนและหลังอย่างเป็นธรรม ตามช่วงรายได้เกษตรกรแต่ละกลุ่ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ