รำลึก ๑๐ ปีสึนามิ สธ.จับมือ สพฉ. ประชุมเครือข่ายอาเซียน บมือภัยพิบัติ ย้ำ ครั้งหน้าจะไม่มีการสูญเสียอีกต่อไป

ข่าวทั่วไป Monday December 15, 2014 12:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และองค์การความร่วมหรือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับภูมิภาคครั้งที่ ๑ เกี่ยวกับการสำรวจระบบภัยพิบัติด้านการแพทย์ฉุกเฉินในภูมิภาคอาเซียน ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในด้านภัยพิบัติทางการแพทย์และแพทย์ที่ทำงานในด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จากประเทศในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมประชุม นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความร่วมมือระหว่างองค์กรระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะพัฒนาความรู้ในการเตรียมพร้อมและการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับต่างประเทศ ซึ่งจากบทเรียนการเกิดสึนามิเมื่อ ๑๐ ปีก่อนทำให้เกิดการพัฒนาในหลายๆด้าน ที่สำคัญคือมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวและมีบทบาทในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้ได้มีการประสานงานกับองค์การความร่วมหรือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้า (JICA) และหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศเวียดนาม ที่จะร่วมดำเนินการสำรวจการจัดการภัยพิบัติด้านการแพทย์และระบบการแพทย์ฉุกเฉินในอาเซียนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ “การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัตินั้นแบ่งเป็นด้านกู้ภัยและด้านกู้ชีพ ซึ่งทางจังหวัดโดยเครือข่ายกรมป้องกันภัยเป็นผู้ดูแลด้านกู้ภัย ส่วนงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินหรือการกู้ชีพนั้น ในปัจจุบัน เรามีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการเตรียมความพร้อมด้านสายด่วน ๑๖๖๙ ด้านหน่วยปฏิบัติการ ยานพาหนะ และการประสานงานเครือข่ายกู้ชีพต่างๆ ซึ่งยังมีบางส่วนที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องเช่นการจัดทำระบบฐานข้อมูลการส่งต่อผู้บาดเจ็บและการรองรับของโรงพยาบาล รวมไปถึงการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากร” นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว ด้านนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า บทบาทของ สพฉ. ในการรับมือภัยพิบัติของประเทศ จะมีอยู่ ๒ ขั้นตอน คือ ช่วงการเตรียมตั้งรับเหตุที่ยังไม่เกิด ทางสถาบันฯ จะมีการส่งทีมไปประเมินโรงพยาบาลและหน่วยปฏิบัติการ ในด้านของแผนเผชิญเหตุ เครืองมือต่างๆ และการฝึกซ้อม ซึ่งหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทาง สพฉ. จะมีระบบฐานข้อมูลการแพทย์ฉุกเฉินที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในด้านการบริหารจัดการ และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานอากาศยานจากทั่วประเทศที่ทำข้อตกลงไว้กับ สพฉ. เพื่อการลำเลียงผู้ป่วยผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้ประโยชน์ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ คือจะมีการสำรวจเพื่อลดช่องว่างในด้านต่างๆ มีการออกแบบการบริหารจัดการ การค้นคว้าวิจัย การดูงานการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพของทีมตอบโต้ภัยพิบัติหรือ DMT ตามความต้องการของแต่ละประเทศ ไม่เพียงแต่ความสามารถในการตอบสนองภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังจะทำหน้าที่ร่วมกันแก้ไขปัญหากรณีฉุกเฉินต่างๆของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อการอยู่รอดของผู้ประสบภัยเมื่อยามเกิดภัยพิบัติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ