พม.ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสทางสังคม

ข่าวทั่วไป Thursday January 22, 2015 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าที่ร้อยตรีศรันย์ สมานพันธ์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหา แนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ ว่าที่ร้อยตรีศรันย์ กล่าวว่า จากทั้ง ๓ กรณี ได้แก่ เด็กหญิง ๘ คนพี่น้อง อายุ ๔-๑๔ ปี ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ต้องอดมื้อกินมื้อ เนื่องจากแม่ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวถูกจับดำเนินคดี ส่วนพ่อมีร่างกายพิการ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้หาเลี้ยงครอบครัวได้ ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี และกรณีชายอายุ ๓๘ ปี ร่างกายพิการถูกตัดขาทิ้งทั้ง ๒ ข้าง อาศัยอยู่กับแม่ ที่แก่ชรา และลูกๆจำนวน ๔ คน ใช้ชีวิตอย่างลำบาก ทางบ้านมีฐานะยากจน ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และอีกกรณีหญิงชราอายุ ๖๕ ปี ต้องรับภาระเลี้ยงดูหลานทั้ง ๓ คน อายุ ๗ ขวบ ๔ ขวบ และ ๒ ขวบ เนื่องจากพ่อและแม่เด็กเสียชีวิต อาศัยอาชีพเก็บผักขายเพื่อเลี้ยงดูหลานไปวันๆ หลานคนกลางประสบอุบัติเหตุถูกรถชน อาการสาหัส ไม่รู้สึกตัว หลานสาวคนเล็ก พิการตาบอดทั้ง ๒ ข้างและกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ซึ่งทั้ง ๔ ชีวิตไม่มีบ้านพักอาศัย ต้องอาศัยต่อสังกะสีจากเพื่อนบ้านเป็นเพิงนอน ที่จังหวัดสระบุรี ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั้ง ๓ จังหวัด (สนง.พมจ.) เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของพ่อเด็กทั้ง ๒ กรณี และเด็กที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถชน รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการศึกษาของเด็กในระยะยาวต่อไป ว่าที่ร้อยตรีศรันย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าฯกรุงเทพ จัดทำลิฟต์ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง ๒๓ สถานี และให้จัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ ทั้งในและนอกตัวรถที่จัดให้สำหรับคนพิการ ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี ซึ่งกระทรวงฯ ขอให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญและคำนึงถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการยื่นฟ้องดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต “นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เน้นย้ำถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหารการ ค้ามนุษย์ โดยได้กำหนดแผนการดำเนินงานการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศในวันที่ ๒๖ – ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นรูปธรรมมากชึ้น” ว่าที่ร้อยตรีศรันย์ กล่าวตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ