สศก. เผยโครงการเมืองเกษตรสีเขียวช่วยได้ เกษตรกรหันผลิตแบบอินทรีย์ มั่นใจมีตลาดรองรับ

ข่าวทั่วไป Monday February 23, 2015 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่หนองคาย เชียงใหม่ ติดตามโครงการเมืองเกษตรสีเขียวของกลุ่มของกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษและผักอินทรีย์ ระบุ เกษตรกรส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อการทำเกษตรอินทรีย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาองค์ความรู้การปลูกผักปลอดสารพิษมากขึ้น พร้อมมั่นใจ มีตลาดรองรับแน่นอนสำหรับการซื้อขายผลผลิต นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ริเริ่มและกำหนดให้เป็นโครงการสำคัญ โดยได้คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายจากจังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกับ AEC และมีความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ซึ่งมีจังหวัดเป้าหมายในภูมิภาคต่างๆ 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ หนองคาย จันทบุรี ราชบุรี และพัทลุง มุ่งเน้นดำเนินการให้มีกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ให้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรทั้งพื้นที่ การผลิตและแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่มีการใช้เทคโนโลยีสะอาดในการผลิตสู่เศรษฐกิจการเกษตรสีเขียว (Green and Cool Agricultural Economy) ซึ่งขณะนี้ แต่ละจังหวัดมีตลาดเกษตรกรสำหรับการซื้อขายผลผลิต ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่าผลผลิตมีตลาดรองรับแน่นอน ในการนี้ สศก. ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการเมืองเกษตรสีเขียว ตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และตำบลบ้านเป้าและอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ของกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษและผักอินทรีย์ ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า หน่วยงานในระดับพื้นที่ มุ่งหวังให้เกษตรกร จังหวัดละ 100 ราย เป็นแหล่งผลิตพืชผักอินทรีย์ เช่นคะน้า แตงกวา ถั่วฝักยาว กระเพรา โหระพา มะเขือเปราะ ผักบุ้ง และผักกาดขาว เป็นต้น โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อการทำเกษตรอินทรีย์ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใน กระทรวงเกษตรฯ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีโอกาสได้พัฒนาความรู้การปลูกผักปลอดสารพิษและผักอินทรีย์มากขึ้น จากการสอบถามเกษตรกรจังหวัดละ 10 ราย พบว่า มีรายได้เงินสดสุทธิ 5,000 – 10,000 บาท/ปี/ครัวเรือน ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงปีแรกของโครงการ จะมีรายได้เงินสดสุทธิโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 500 – 1,000 บาท/ครัวเรือน แต่เกษตรกรมีความมั่นใจว่าผลผลิตมีตลาดเกษตรกรรองรับ ทั้งนี้ การดำเนินงาน “โครงการเมืองเกษตรสีเขียว” ในระยะปีที่ 2 ควรเร่งขยายพื้นที่ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดผลดีต่อสภาพแวดล้อม ไม่เป็นอันตราย ต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค อันจะส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลงและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น สู่สินค้าพืชผักอินทรีย์จำหน่ายในตลาดเฉพาะกลุ่มและพัฒนาสู่การผลิตตามคำสั่งลูกค้า (Produce to Order) ในระยะยาว แก้วิกฤตราคาผักตกต่ำอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ