สมศ. ชูดีเอ็นเอ “เก่ง ดี งาม” กลยุทธ์ส่งเสริมคุณภาพนักเรียนนักศึกษาไทยต้อนรับอาเซียน

ข่าวทั่วไป Thursday March 12, 2015 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ตั้งเป้าพัฒนาเด็กไทยให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาครอบคลุม 3 ด้าน คือ เก่ง ดี และงาม เพื่อเสริมสร้างเยาวชนไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการเป็นคนเก่ง ผู้เรียนต้องมีความรู้ความสามารถตามหลักสูตร และเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบความรู้ความสามารถในระดับชาติ หรือระดับสากล ตลอดจนการสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ และสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศต่อไปได้ ส่วนคนดี คือการเน้นให้ผู้เรียนดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีจิตอาสา และมีการพัฒนาคุณธรรมด้านต่างๆ อาทิ วินัย สติ กตัญญู เมตตา อดทน ซื่อสัตย์ ประหยัด ขยัน ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างในแต่ละบุคคล บางคนมีความรู้ความสามารถแต่ขาดคุณธรรม ก็จะทำให้สังคมเกิดความเดือดร้อนได้ และ งาม หมายถึงคุณลักษณ์ หรือลักษณะที่เป็น คือสิ่งที่บ่งชี้คุณความเป็นมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดความต่าง ความโดดเด่น และเพิ่มคุณค่าของบุคคล เช่นการยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจ รู้จักกาลเทศะ เป็นต้น ดังนั้นแนวคิด เก่ง ดี งาม จึงสามารถตอบโจทย์และสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณภาพคู่คุณธรรม เพื่อทำให้คนมีคุณค่าเป็นกลไกและฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ในประชาคมอาเซียน ตลอดจนสร้างจุดขายให้กับเยาวชนไทยที่จะเป็นแรงงานในอนาคตในเวทีนานาชาติ สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่าคุณภาพศิษย์ไทยในอุดมคติที่สอดคล้องกับทิศทางปฏิรูปการศึกษาของประเทศว่า ต้องประกอบด้วย คุณภาพ คุณธรรม คุณลักษณ์ หรือ “เก่ง ดี งาม” ซึ่ง เก่ง คือ ความรู้และความสามารถซึ่งความรู้เกิดจากสิ่งที่ได้ฟัง พูด อ่าน เขียน ประสบการณ์ ทักษะฝีมือที่เกิดจากการนำความรู้มาปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ สามารถวัดได้โดยการปฏิบัติ ส่วนดี หรือคุณธรรมความดี คือการเน้นให้ผู้เรียนดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และงาม คือ ลักษณะที่เป็นคุณหรือสิ่งที่บ่งชี้คุณค่าความเป็นมนุษย์ อันได้แก่ ยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจไมตรี กาลเทศะ และอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเกิดจากการปลูกฝังอบรมอย่างต่อเนื่อง โดยคุณภาพผู้เรียนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้เกี่ยวข้องต้องมีจิตสำนึกคุณภาพ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ เช่น สามัญสำนึกของผู้เรียน จิตวิญญาณของความเป็นครู และความเอาใจใส่ของผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคมต่อเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ และได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกของเป้าหมายการประเมิน ทั้งนี้ คุณภาพ คุณธรรม และคุณลักษณ์ จึงถือเป็นนิยามของศิษย์ในอุดมคติที่ สมศ. กำหนดไว้เป็นหลักในการประเมินคุณภาพภายนอก โดยคุณภาพมองที่ความรู้ คุณธรรมพิจารณาจากการกระทำที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม คุณลักษณ์ประเมินจากคุณลักษณะทางสังคมที่เหมาะสมตามวิถีสังคมไทย ดังนั้น แนวคิด “เก่ง ดี งาม” จึงสามารถตอบโจทย์ใหญ่ในเรื่องของคุณภาพการศึกษาได้ดีที่สุด เพราะคนคุณภาพจึงจะสร้างสรรค์สังคมคุณภาพ และจะเกิดกลไกของการขับเคลื่อนทุกมิติของประเทศรวมถึงในประชาคมอาเซียน และเวทีนานาชาติ ด้าน นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านการศึกษา สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ไม่ยากเกินความพยายาม โดยเริ่มต้นปลูกฝังจากตนเองตั้งแต่เป็นเด็ก ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นให้เป็นคนเก่ง คือมีความรู้ ความสามารถ เป็นคนดี คือมีคุณธรรม เป็นคนงามคือมีคุณลักษณ์ หรือกริยามารยาทที่ดี ทั้งนี้หลักการจัดการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้กล่าวว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องบูรณาการเชื่อมโยงกับการปฏิรูปประเทศทุกด้าน โดยจะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ที่จะช่วยให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีชีวิต ที่สมดุลทั้งความดี ความงาม ความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ความมีเหตุผล ความมีสำนึกต่อส่วนรวม สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคสารสนเทศของสังคมโลกได้อย่างเท่าทัน โดยยังคงธำรงรักษาจารีตและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมระดับแนวหน้าได้ในอนาคต ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพบัณฑิตที่พึงประสงค์ และคุณลักษณะของบัณฑิตไทยในอนาคตว่าจะเป็นไปใน 4 กระแสหลัก คือ 1 เมื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยจะต้องก้าวให้พ้นกับดักของตะวันตก ซึ่งตามวิสัยคนไทยจะโอนอ่อนผ่อนตามค่านิยม หรือกระแสต่างๆ ซึ่งถ้าเราผ่อนตามค่านิยมต่างๆ มากเกินไปจนไม่มีจุดยืนของตนเอง ในที่สุดก็จะกลายเป็นเครื่องมือของชาติตะวันตก 2 เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ บัณฑิตยุคใหม่จะไม่ยึดติดกับงานใดงานหนึ่ง ต้องมีทักษะหลายอย่าง จึงจำเป็นต้องสอนเขาเพื่อรู้เท่าทันตามเทคโนโลยี คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ ประเมิน เรียนรู้ปัญหา มีสำนึกร่วม รู้จักตนเอง และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง 3 จะเกิดความต้องการเฉพาะด้าน ภาคธุรกิจ ภาคเอกชนจะมีบทบาทต่อการจัดการศึกษามากขึ้น มหาวิทยาลัยจะมีรูปแบบเดียวกัน 4 จะเกิดปัญหาสังคมไทยที่เน้นบริโภคนิยม สถาบันการศึกษาจะต้องสอนบัณฑิตให้คิดวิเคราะห์เพื่อมองปัญหาให้รอบด้าน ดังนั้นบัณฑิตที่พึงประสงค์ในอนาคตต้องมีพร้อม 4 ด้าน คือ ความรู้ ความคิด ความสามารถ และคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับปริญญาเอก เพราะในอนาคตบัณฑิตไทยจะต้องมีบทบาทในการนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามและเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เรายังคงต้องปฏิรูปการศึกษาซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะยังไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพป้อนสู่สังคมได้ตามความต้องการในแต่ละระดับ ดังนั้นสถานศึกษาทุกแห่งจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ เป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ