ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “ธ. ทิสโก้” ที่ “A” หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ “A-” และหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 28, 2015 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.99% โดย บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “A-” และ “BBB+” ตามลำดับ โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และปริมาณเงินทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกจำกัดโดยส่วนแบ่งทางการตลาดในสินเชื่อและเงินรับฝากของธนาคารซึ่งมีขนาดเล็ก รวมทั้งคุณภาพสินเชื่อที่กำลังเสื่อมถอยลง และการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการมีหนี้สินภาคครัวเรือนในระดับสูง และความซบเซาของยอดขายรถยนต์ภายในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขัน รวมทั้งคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร อันดับเครดิต “BBB+” สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคาร (TISCO223A) สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวนี้มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวจะถูกตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะคงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ไว้ได้ ตลอดจนดำรงเงินกองทุนอย่างเพียงพอ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนสมมติฐานที่คุณภาพสินเชื่อของธนาคารจะไม่เสื่อมถอยลงอีก สถานะเครดิตของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากพอร์ตสินเชื่อของธนาคารหดตัวเพิ่มขึ้นและทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากคุณภาพสินเชื่อลดลงจนทำให้ต้นทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในทางตรงข้าม สถานะเครดิตในทางบวกยังไม่น่าเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้เนื่องจากโอกาสในธุรกิจเช่าซื้อที่มีอย่างจำกัดและเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ กลุ่มทิสโก้มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 9 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 17 แห่ง ณ สิ้นปี 2557 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.5% และเงินรับฝาก 1.9% ธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นธนาคารหลักของกลุ่มทิสโก้มุ่งเน้นในตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยพอร์ตสินเชื่อรถยนต์มีขนาดใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 63% ของสินเชื่อรวม ณ เดือนธันวาคม 2557 ความเชี่ยวชาญของคณะผู้บริหารช่วยให้ธนาคารสามารถคงสถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไว้ได้ ณ เดือนธันวาคม 2556 ธนาคารเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 จาก 16 แห่งในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 12% พอร์ตสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2552-2556 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 20% โดยเป็นผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ณ เดือนธันวาคม 2557 พอร์ตสินเชื่อรถยนต์หดตัวลง 10% จากปีก่อนอันเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมลดลงด้วยเช่นกันในปี 2557 ภายหลังการเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2552-2556 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2557 สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับของธนาคารมีจำนวนทั้งสิ้น 258.6 พันล้านบาท ลดลง 8% จากปีก่อน ธนาคารกระจายสินเชื่อไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อเนื่องจากการมีลูกหนี้ขนาดใหญ่มากอยู่จำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ธนาคารยังขยายสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นบนพื้นฐานของผลตอบแทนที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยงเพื่อรักษาระดับกำไรเอาไว้ ทั้งนี้ เงินกองทุนส่วนเกินของธนาคารอาจลดลงหากสินเชื่อดังกล่าวกลายเป็นสินเชื่อที่มีปัญหา คุณภาพสินเชื่อของธนาคารเสื่อมถอยลง โดยปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจาก 2.2 พันล้านบาทในปี 2554 เป็น 5.9 พันล้านบาทในปี 2557 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.3% ในปี 2557 จาก 1.2% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารจะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ธนาคารยังสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้อย่างเพียงพอ โดยมีปริมาณสำรองคิดเป็น 180% ของสำรองขั้นต่ำตามเกณฑ์ของ ธปท. ธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2557 จำนวน 3.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินของธนาคารยังคงสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ต้นทุนด้านเครดิตของธนาคารเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพ ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญในปี 2557 คิดเป็น 1.5% ของสินเชื่อเฉลี่ย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเท่ากับ 0.96% ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.93% ในปี 2556 ในส่วนของแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องนั้น ธนาคารพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ซึ่งอาจเกิดความผันผวนได้ง่ายกว่าเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายย่อย ทั้งนี้ สภาพคล่องของธนาคารอาจอ่อนแอลงได้หากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ดังกล่าวทำการเบิกถอนเงินในคราวเดียวกัน เงินกองทุนของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นภายหลังการเพิ่มทุนในปี 2556 และ 2557 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในปี 2555 เป็น 7.9% ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนของธนาคารยังคงต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม ธนาคารคำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านเครดิตโดยวิธี Internal Rating Based Approach (IRB) ซึ่งช่วยให้การบริหารความเสี่ยงและเงินกองทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ธนาคารยังคงมีเงินกองทุนที่เพียงพอต่อการขยายสินเชื่อในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ณ เดือนธันวาคม 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงและเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 12.55% และ 16.80% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท. ที่ 6.00% และ 8.50% ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCOB) อันดับเครดิตองค์กร: A อันดับเครดิตตราสารหนี้: TISCO205A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A- TISCO20DA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A- TISCO22DA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 1,243 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A- TISCO223A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ