สศก.6 ร่วมขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่เมืองชล รุกสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรในพื้นที่

ข่าวทั่วไป Tuesday May 5, 2015 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด รุกแผนปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ หวังช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของข้อมูลในระดับพื้นที่ที่เป็นกลไกสำคัญ นางบุบผา ภู่ละออ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศก.6) เปิดเผยถึงการร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่ม และรวมพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรของจังหวัด เป็นไปในลักษณะการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดโดยยึดสินค้า – พื้นที่ – คนไปพร้อมกัน ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทรัพยากรและการตลาด ง่ายต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการ ในด้านการวางแผนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เพื่อสร้างรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิตและเกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้า สำหรับการพัฒนาการเกษตรของจังหวัด ตามแนวทางการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่นั้น ข้อมูลเป็นกลไกที่สำคัญในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด ดังนั้นการจัดทำแผนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัด จึงเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้โครงการสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งจากการเข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชลบุรี การจัดทำแผนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดปี 2558 - 2559 ที่มีมูลค่าสูงในลำดับที่ 1 - 5 ของ GPP ภาคเกษตรของจังหวัดชลบุรี พบว่า ลำดับที่หนึ่ง ได้แก่ ไก่เนื้อ มีมูลค่า 5,174 ล้านบาท ลำดับรองลงมา ได้แก่ ไข่ไก่ สุกร ยางพารา ข้าว และปลานิล ซึ่งมีมูลค่า 4,486 , มูลค่า 4,042 ล้านบาท , มูลค่า 1,735ล้านบาท , มูลค่า 251 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในส่วนของปลานิลจะเป็นโครงการนำร่องแบบแปลงใหญ่ปี 2558 - 2560 ซึ่งทุกชนิดสินค้าต้องจัดทำแผนการผลิตและแผนการตลาดอย่างครบวงจร ในการคัดเลือกพื้นที่การพัฒนาการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่นั้น มี 2 ชนิดสินค้า ได้แก่ 1. โครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่สินค้าข้าว พื้นที่ดำเนินการในหมู่ 1 , 2 , 3 , 4 และหมู่ 5 ตำบลหนองปรือ อำเภอพนัสนิคม เกษตรกรเป้าหมาย 110 ราย พื้นที่ 1,000 ไร่ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงสีข้าว ยุ้งฉาง ระบบไฟฟ้าในอาคาร ลานตากข้าว โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน อาสาสมัครเกษตร องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ และ 2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงปลานิลแบบครบวงจร พื้นที่ดำเนินการ 2 แห่ง ได้แก่ (1) อำเภอพานทอง เกษตรกรเป้าหมาย 583 ราย พื้นที่ 6,637 ไร่ และ (2) อำเภอพนัสนิคม เกษตรกรเป้าหมาย 1,344 ราย พื้นที่ 13,713 ไร่ มีกิจกรรมสนับสนุน เช่น เพิ่มผลผลิตการเพาะเลี้ยงปลานิล ลดต้นทุนการผลิตปลานิล เพิ่มมูลค่าสินค้าปลานิล ยกระดับมาตรฐานปลานิล จัดตั้งสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงปลานิล ติดตามและประเมินผล และบริหารโครงการ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการดำเนินการของโครงการฯ จะทำให้เกษตรกรรายย่อยได้รับประโยชน์สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น ลดปัญหาด้านการตลาด กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง ลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตมีคุณภาพตามมาตรฐาน เพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้า ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้คำนึงถึงความสอดคล้องของข้อมูลในระดับพื้นที่ที่เป็นกลไกสำคัญ ดังนั้นจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ลดปัญหาด้านการเกษตรได้เป็นอย่างดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ