ติดตามพื้นที่นาปรังภาคกลาง สศก.15 พร้อมสำรวจภาวะครัวเรือนเกษตรกร 4 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Thursday May 7, 2015 10:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 15 เผย พื้นที่นาปรัง 4 จังหวัดภาคกลาง อยุธยา สระบุรี ปทุมธานีและนนทบุรี ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 47.63 จากการประกาศให้งดทำนาปรังของกระทรวงเกษตรฯ ด้าน สศก.15 เตรียมกำลังพลลงสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรกรเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด แนะ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และสร้างความโดดเด่นของสินค้า โดยการใช้เครื่องทุ่นแรงและเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสม นายสมชาย ครามานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 15 ปทุมธานี (สศก.15) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรอยู่ในช่วงดำเนินการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรกร โดยในส่วนของ สศก.15 จะสำรวจในภาคกลางในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานีและนนทบุรี ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน นี้ เพื่อติดตามสถานการณ์รายได้ รายจ่ายรวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำนาปรังเป็นประจำทุกปี ปีละ 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 ปัจจุบันไม่สามารถทำนาปรังได้เนื่องจากชลประทานงดปล่อยน้ำสนับสนุนการทำนาปรังเพราะในเขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำต้นทุนจำนวนน้อย ทำให้คาดว่าพื้นที่นาปรังใน 4 จังหวัดดังกล่าวจะลดลงจากปีก่อนร้อยละ 47.63 จากที่เคยมีพื้นที่ปลูก 1.52 ล้านไร่ ขณะเดียวกันราคาผลผลิตข้าวจากปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวและมีปริมาณข้าวคงเหลือในสต๊อกมีจำนวนมาก มีผลให้ราคาข้าวปัจจุบันเหลือตันละ 6,000-7,000 บาท/ตัน อีกทั้งจากปัญหาภัยธรรมชาติและราคาผลผลิตตกต่ำทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ ทำให้ทราบฐานะรายได้และปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบัน ที่นาในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาประมาณ 5.30 ล้านไร่ มีสัดส่วนของผู้เช่าอยู่ร้อยละ 40-70 ทำให้การทำนาในภาคกลางยังขาดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิต ซึ่งแนวทางแก้ไขนั้น ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น การทำนาแปลงใหญ่ใช้เครื่องทุ่นแรงอย่างมีประสิทธิภาพ หรือถ้าเป็นนาแปลงเล็กก็เน้นเกษตรอินทรีย์ลดการใช้สารเคมี นอกจากนี้ ควรมุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีการตรวจสอบคุณภาพการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำเพื่อสร้างความโดดเด่นด้านคุณภาพในตัวสินค้าของเกษตรกรอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ