ภัยไม่เงียบในโลกไซเบอร์ ซอฟต์แวร์เถื่อน ล้วงข้อมูลส่วนบุคคล

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday May 20, 2015 10:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ETDA ห่วง ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการโจมตีโดยอาชญากรไซเบอร์ ซึ่งอาศัยช่องโหว่ของซอฟต์แวร์เถื่อนสูงมาก แม้ตัวเลขการละเมิดจะลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ และหาแนวทางแก้ปัญหากันอย่างต่อเนื่อง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center และ บีเอสเอ | กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ (BSA | The Software Alliance) จัดเสวนาเปิดมุมมอง “การใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง วิธีง่าย ๆ สำหรับคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ชี้องค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน เสี่ยงต่อระบบรักษาความปลอดภัย ถูกมัลแวร์โจรกรรมข้อมูล และการฉ้อโกงผ่านธุรกรรมออนไลน์ ด้าน ThaiCERT (ไทยเซิร์ต) ภายใต้ ETDA เปิดเผยว่า ซอฟต์แวร์เถื่อนมาจากหลายแหล่ง เช่น bittorrent, file upload, เว็บไซต์ขายของออนไลน์, ร้านขายแผ่นผี หรือแม้แต่การก็อปปี้ต่อ ๆ กันมา ทั้งนี้หากดูผลความสัมพันธ์ระหว่างซอฟต์แวร์เถื่อนกับการถูกมัลแวร์จู่โจม อยู่ที่ 33% ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย และเมื่อคอมพิวเตอร์ถูกฝังมัลแวร์ ก็นำมาสู่การขโมยข้อมูลทั้งข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลองค์กร การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นประตูด่านแรก หากทุกภาคส่วนใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง โอกาสที่แฮกเกอร์จะเข้ามาเจาะข้อมูลก็เป็นไปได้ยาก น่าเป็นห่วงว่าในประเทศไทย อัตราการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์คิดเป็น 71% ขณะที่สถิติทั่วโลกอยู่ที่ 20% ไทยจึงเป็นประเทศอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและเวียดนามกับในภูมิภาคอาเซียน สาเหตุเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมในไทยที่เอื้อมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ในยุคปัจจุบันที่คนไทยจำนวนมากมีคอมพิวเตอร์ใช้ คนไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ ๆ ที่มาในรูปแบบของไวรัสคอมพิวเตอร์และมัลแวร์แบบไม่รู้ตัว ซึ่งอันตรายเหล่านี้สามารถขโมยข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ทั้งนี้ในเวทีเสวนามีการเสนอถึงการแก้ปัญหาการใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนว่า สำหรับบุคคลทั่วไปควรจะแก้ด้วยการให้ข้อมูลและปลูกจิตสำนึก เพื่อทำให้ผู้ใช้งานมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการทำให้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์มีราคาถูกลง ตลอดจนวางจำหน่ายอย่างกว้างขวางให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ส่วนภาคธุรกิจ ก็ควรมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟท์แวร์ภายในองค์กร โดยจัดให้มีซอฟท์แวร์ที่ถูกกฎหมายสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ของพนักงานแต่ละคนและบริหารจัดการซอฟท์แวร์ไปตลอด life-cycle

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ