ทช. พาสื่อมวลชนสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลใน จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา

ข่าวทั่วไป Thursday June 11, 2015 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--โฟร์พีแอดส์ (96) ทช. สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลใน จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา พร้อมดึงชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรหลัง พ.ร.บ. ทช. มีผลบังคับใช้ ทช. เปิดพื้นที่สาธิตการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพด้านทรัพยากรทางทะเล พร้อมแสดงพลังการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนปกป้อง ดูแล และรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หวังประกาศเขตคุ้มครองหลัง พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ มีผลบังคับใช้ นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวภายหลังการนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ณ ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติวิทยาพืชและสัตว์ทะเลฝั่งอันดามัน โรงเรียนป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และพื้นที่สาธิตการศึกษาความหลายหลายทางชีวภาพด้านทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยได้สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำที่อาศัยในระบบนิเวศแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน หาดทรายและหาดหิน บริเวณเกาะยาวใหญ่ และเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา รวมทั้งศึกษาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชนดังกล่าว พบว่าในบริเวณพื้นที่หมู่เกาะยาวมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ ทั้งจำนวนชนิดและปริมาณอย่างมากมาย ซึ่งตัวอย่างที่ได้จากการสำรวจ ได้นำมาจัดแสดงในศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติวิทยาพืชและสัตว์ทะเล โดยได้ประสานขอความร่วมมือจากโรงเรียน อบต. เทศบาล เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนได้ทราบว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ทะเลในพื้นที่ของตนเองมีสถานภาพอย่างไร มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร โดยมุ่งหวังให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรทางทะเลและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน นายชลธิศ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ นอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการ และสร้างพลังในการมีส่วนร่วมของชุมชนแล้ว ยังนำมาสู่กระบวนการการประกาศเขตคุ้มครองตามกฎหมายหลังจากที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ มีผลบังคับใช้ พื้นที่ที่มีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พื้นที่ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชตามสภาพทางธรรมชาติ จะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครองและมีแผนที่แสดงแนวเขตพื้นที่ที่ชัดเจน โดยพื้นที่ดังกล่าว จะต้องไม่อยู่ในเขตอนุรักษ์ หรือเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามกฏหมายว่าด้วยการประมง ซึ่งในการประกาศพื้นที่คุ้มครองของ ทช. จะคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพในด้านทรัพยากรทางทะเลเป็นสำคัญ รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับชุมชนเจ้าของพื้นที่ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ