ผลกระทบประชามติหนี้กรีซ

ข่าวทั่วไป Monday July 6, 2015 09:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินลงประชามติหนี้สินกรีซไม่ว่าผลออกมารับรองหรือไม่รับรองเงื่อนไขเจ้าหนี้ผลกระทบและความเสี่ยงระยะสั้นต่อระบบการเงินยุโรปและโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เจ้าหนี้ต้องตัดสินใจลดหนี้จำนวน 323,000 ล้านยูโรหรือ 11.9 ล้านล้านบาท (หนี้เกือบขนาดเท่ากับจีดีพีของไทย) พร้อมกับการเดินหน้าการปฏิรูปเศรษฐกิจและยกเครื่องระบบการคลังและระบบการเงินครั้งใหญ่ วิกฤตการณ์หนี้สินกรีซเป็นผลจากการใช้นโยบายประชานิยมอย่างขาดวินัยทางการเงินการคลังและการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับ ทำให้ประเทศเกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจ การโหวตไม่ยอมรับเงื่อนไขแต่เจรจาไม่ออกจากยูโรโซนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดต่อกรีซ เศรษฐกิจยูโรโซนและระบบการเงินโลก เสนอให้ภาคเอกชนและตลาดการเงินต้องระมัดระวังในการลงทุนและติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ภาครัฐเพิ่มระดับการเร่งรัดการใช้จ่ายเร็วขึ้นและมากขึ้น แบงก์ชาติควรเรียกคณะกรรมการธนาคารและคณะกรรมการนโยบายการเงินประชุมพิเศษ ควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่า 1% การลงทุนภาครัฐต้องขยายตัวให้สูงกว่า 40-50% ในช่วงครึ่งปีหลัง (ไตรมาสแรกทำได้ที่ระดับ 37.8%) หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อการนำเข้าซึ่งไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานภายในในช่วงนี้ เช่น การจัดซื้ออาวุธด้วยเงินงบประมาณจำนวนมาก เป็นต้น โดยเน้นไปที่การใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจแทน กรุงเทพฯ 5 มิ.ย. 2558 (เวลา 14.30 น. ก่อนทราบผลลงประชามติของกรีซ) ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประเมินลงประชามติหนี้สินกรีซไม่ว่าผลออกมารับรองหรือไม่รับรองเงื่อนไขเจ้าหนี้ผลกระทบและความเสี่ยงระยะสั้นต่อระบบการเงินยุโรปและโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสนอให้เจ้าหนี้ต้องตัดสินใจลดหนี้จำนวน 323,000 ล้านยูโรหรือ 11.9 ล้านล้านบาท (หนี้เกือบขนาดเท่ากับจีดีพีของไทย) หากใช้วิธียืดหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้และให้กู้เงินเพิ่มไปเรื่อยๆย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง การลดหนี้จำเป็นต้องดำเนินการพร้อมกับการเดินหน้าการปฏิรูปเศรษฐกิจและยกเครื่องระบบการคลังและระบบการเงินครั้งใหญ่ วิกฤตการณ์หนี้สินกรีซเป็นผลจากการใช้นโยบายประชานิยมอย่างขาดวินัยทางการเงินการคลังและการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับ ทำให้ประเทศเกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจ การโหวตไม่ยอมรับเงื่อนไขแต่เจรจาต่อรองไม่ออกจากยูโรโซนหรือเจรจาต่อรองในเรื่องที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดต่อกรีซ เศรษฐกิจยูโรโซนและระบบการเงินโลก หากลงมติรับรอง รัฐบาลอเล็กซิส ซิปราสต้องลาออกก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองอีก การแก้ปัญหาจะหยุดชะงักไประยะหนึ่งก่อนจะได้รัฐบาลใหม่ซึ่งมีแนวโน้มจะทำตามเงื่อนไขเจ้าหนี้เต็มที่ มาตรการเข้มงวดทางการเงินการคลังและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะถูกนำมาใช้ตามเงื่อนไขเจ้าหนี้จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจกรีซที่หดตัวอยู่แล้ว หากมีการลงประชามติรับรอง ประเทศภาคีสมาชิกยูโรโซนอาจไม่เชื่อใจว่า รัฐบาลปัจจุบันจะปฏิรูปเศรษฐกิจตามเงื่อนไขเจ้าหนี้ ความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การไม่รับรองแต่เจรจาขออยู่ในยูโรโซนต่อไปจะเพิ่มอำนาจต่อรองให้ลูกหนี้ และขอใช้เงินสกุลเงินเดิม (สกุลเงินดรักมาร์) ควบคู่กับยูโรโซนไประยะหนึ่งจนกว่าเศรษฐกิจฟื้นและแก้ปัญหาหนี้สินได้ระดับหนึ่ง การใช้เงินสองสกุลควบคู่กันต้องทำไปพร้อมกับมาตรการควบคุมเงินทุนหรือ Capital Control แต่หากลงมติไม่รับรองเงื่อนไขเจ้าหนี้และออกจากยูโรโซนและไม่เจรจากับเจ้าหนี้จะเกิดผลลัพธ์ทางลบรุนแรงต่อกรีซ ต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของยูโรโซน รวมทั้งความผันผวนในตลาดการเงินโลกอย่างมากในระยะสั้นและระยะปานกลาง เมื่อกรีซต้องกลับไปใช้เงินสกุลเดิม (สกุลเงินดรักมาร์) กรีซจะประสบปัญหาความตกต่ำของค่าเงินอย่างรุนแรง แต่จะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น นำเข้าหดตัวรุนแรง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น เงินออมมากขึ้น ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น แล้วจะเริ่มทยอยชำระหนี้ได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการปรับตัวตรงนี้ แต่เฉพาะหน้า ความเสี่ยง คือ เจ้าหน้าหนี้งดความช่อยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมและอาจไม่ปล่อยกู้ให้กับธนาคารของกรีซ ดร. อนุสรณ์ อดีตกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า เงินดอลลาร์น่าจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เงินยูโรอ่อนค่าลงต่อเนื่องในอัตราเร่งมากขึ้น เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง เงินทุนจะไหลออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงสู่สินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตร กองทุนตลาดเงิน เป็นต้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ เสนอให้ทางการไทยและตลาดการเงินต้องเตรียมตัวรับมือและติดตามอย่างใกล้ชิดกรณีกรีซผิดนัดชำระหนี้โดยเฉพาะความผันผวนจากตลาดการเงินโลก ธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีการประชุมคณะกรรมการธนาคารและคณะกรรมการนโยบายการเงินพิเศษและพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาต่ำกว่า 1% เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและความเสี่ยงของปัจจัยภายนอกเพิ่มขึ้น ต้องเริ่มเตรียมรับมือการชะลอตัวเพิ่มมากขึ้นของเศรษฐกิจจีนและความเสี่ยงในการเกิดวิกฤติภาคการเงินของจีน แม้นผลกระทบจากกรีซในเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มาก เนื่องจากปัจจุบันไทยมีหนี้สินต่างประเทศน้อย ทุนสำรองระหว่างประเทศและยอดเกินดุลบัญชีเงินสะพัดในระดับสูง อาจเกิดความเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐเร็วขึ้นและมากขึ้น การลงทุนภาครัฐต้องขยายตัวให้สูงกว่า 40-50% ในช่วงครึ่งปีหลัง (ไตรมาสแรกทำได้ที่ระดับ 37.8%) หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อการนำเข้าซึ่งไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานภายในในช่วงนี้ เช่น การจัดซื้ออาวุธด้วยเงินงบประมาณจำนวนมาก เป็นต้น โดยขอให้เน้นใช้งบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจแทนจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ