สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 6-10 ก.ค.58 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 13-17 ก.ค.58

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 13, 2015 16:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 4.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 5.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 77.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 4.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · นักลงทุนวิตกต่อสถานการณ์วิกฤติหนี้ของกรีซที่ยังไม่มีข้อสรุป ขณะที่ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจกรีซปี 58 ลดลงจากปีก่อน 0.8% มาอยู่ที่ 0% ผนวกกับตลาดหุ้นจีนตกต่ำส่งสัญญาณเศรษฐกิจจีนประสบปัญหา แม้รัฐบาลจีนประกาศมาตรการพยุงราคาหุ้นแต่มูลค่าตลาด (Market Cap) ที่ลดลงทำให้นักลงทุนชาวจีนขาดทุนจำนวนมาก · Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 12 แท่น อยู่ที่ 640 แท่น ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกในรอบ 30 สัปดาห์ หลังจากแท่นผลิตลดลงต่อเนื่องก่อนหน้า · Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.38 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 465.76 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.7 ล้านบาร์เรล · Standard Chartered คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของจีนในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.6% เนื่องจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นของ China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) ซึ่งชดเชยการผลิตที่ลดลงของบริษัท PetroChina และบริษัท Sinopec ทั้งนี้ จีนผลิตน้ำมันดิบปริมาณ 4.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.1% ส่วนยอดผลิตในเดือน ม.ค.-พ.ค. 58 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.8% อยู่ที่ 4.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · บริษัทที่ปรึกษาการลงทุน Jadwa Investment รายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นของซาอุดีอาระเบีย ไตรมาส 2/58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 235,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 12% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 3/58 สูงกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนว่าในปีนี้ปริมาณนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นจะอยู่ที่ 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะโรงกลั่นใหม่ Yasref (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) จะเดินเครื่องเต็มกำลังในช่วงเวลาดังกล่าว · จีนเดินหน้ารักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มสภาพคล่องแก่ระบบธนาคารในประเทศ โดยธนาคารกลางจีนประกาศยืดระยะเวลาสำหรับเงินกู้จำนวน 2.5 แสนล้านหยวน ที่ปล่อยให้กับสถาบันการเงิน 11 แห่ง หลังจากสินเชื่อที่ผ่านโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ครบกำหนดสัปดาห์ก่อนแล้ว โดยโครงการเงินกู้ดังกล่าวมีอายุ 6 เดือน และคิดอัตราดอกเบี้ย 3.35% · Sentix รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Economic Sentiment Index) ของยูโรโซนในเดือน ก.ค. 58เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.4 จุดมาอยู่ที่ 18.5 จุด เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน แม้ยังคงมีความวิตกต่อสถานการณ์วิกฤติหนี้ของกรีซ แต่เศรษฐกิจโดยองค์รวมของยูโรโซนมีแนวโน้มดีขึ้น · สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Federal Statistics Office) รายงานยอดดุลการค้าในเดือน พ.ค. 58 เกินดุล 2.2 หมื่นล้านยูโร (2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2534 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent และ NYMEX WTI ผันผวนจากความไม่แน่นอนของทั้งการ เจรจาควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านและการเจรจาแก้วิกฤติหนี้ของกรีซ โดยอิหร่านยังไม่สามารถตกลงกับมหา อำนาจทั้ง 6 ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีนและเยอรมนี เพื่อจำกัดการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์แลกกับการ ผ่อนปรนหรือยุติมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่ออิหร่าน เส้นตายของการเจรจาเลื่อนมาหลายครั้งจนกระทั่งพ้นกำหนด เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 58 ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งที่มีกระแสข่าวว่าเข้าใกล้ข้อสรุปมาโดยตลอด ด้านกรีซสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี Alexis Tsipras มีทีท่าอ่อนข้อ ยอมพิจารณาเงื่อนไขการเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือ (Bailout)รอบที่ 3 ขณะที่เยอรมนีพยายามกดดันกรีซอย่างหนักหน่วง อาจมีผลทำให้กรีซถูกขับออกจากยูโรโซนชั่วคราวเป็นระยะเวลา 5 ปี หากไม่ยอมรับข้อเสนอมาตรการรัดเข็มขัด (Austerity) ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กรีซเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือมาแล้ว 2 ครั้ง ด้วยวงเงินกู้รวม 2.4 แสนล้านยูโรจาก Troika ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่เศรษฐกิจยังคงตกต่ำต่อเนื่อง ล่าสุดกรีซผิดนัดชำระหนี้ IMF เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 58 และจะส่งผลให้กรีซเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หากไม่มีเงินจ่ายสำหรับการไถ่ถอนตราสารหนี้ (Bond Redemption) เมื่อครบกำหนดวันที่ 20 ก.ค. 58 ซึ่งจะทำให้ ECB หยุดการช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ธนาคารของกรีซ จึงอาจเหลือทางออก เดียวคือกรีซต้องเข้าสู่มาตรการไถ่ถอนครั้งที่ 3 ด้วยวงเงินกู้ 8.6 หมื่นล้านยูโร ดังนั้น สัปดาห์นี้ต้องจับตาประเด็นของอิหร่านและกรีซอย่างใกล้ชิดต่อไป ด้านกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคสัปดาห์นี้คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.0-60.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 51.0-55.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55.5-59.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงจากบริษัท CPC ของไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน ปริมาณ 255,000 บาร์เรล ส่งมอบเดือน ส.ค. 58 ทั้งนี้ บริษัท CPC จะปิดซ่อมบำรุง Residue Fluid Catalytic Cracker (กำลังการผลิต 80,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Talin (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ช่วงปลาย ส.ค. 58 ซึ่งจะทำให้การส่งออกน้ำมันเบนซินลดลงในเวลาต่อมา ขณะที่ Aldemir Bendine ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท Petroleo Brasileiro SA ประเทศบราซิลเปิดเผยว่าจะเน้นใช้เอทานอลเป็นส่วนผสมของ Biofuel เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล ทั้งนี้ปัจจุบันบราซิลใช้ เอทานอลผสมในน้ำมันเบนซิน 27% และในน้ำมันดีเซล 7% ทำให้การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในช่วงครึ่งแรกของปี ลดลงจากปีก่อนราว 20% ประกอบกับบริษัท Sinopec ของจีนเริ่มปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน Jiujiang (กำลังการผลิต100,000 บาร์เรลต่อวัน) ให้สามารถผลิตน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล ให้ตรงตามมาตรฐาน National Phase 5 (เทียบเท่า Euro 5) ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 8 ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 60,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Saigon Petro จากเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน ปริมาณ 85,000 บาร์เรล ส่งมอบ 16-20 ส.ค. 58 อีกทั้ง Platts รายงาน Arbitrage ของน้ำมันเบนซินจากเอเชียไปยังWest Coast ของสหรัฐฯ เปิดต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในสหรัฐฯ เม็กซิโกและชิลี สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.5-79.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจาก Platts รายงานอุปทานน้ำมันดีเซล ในเอเชียล้นตลาดรุนแรง เนื่องจากปริมาณการส่งออกที่มากอย่างต่อเนื่อง จากทั้งเอเชียอาคเนย์และเอเชียเหนือโดยเฉพาะจีน ประกอบกับอินเดียเริ่มส่งออกเพิ่มมากขึ้นหลังเข้าสู่ฤดูมรสุม ขณะที่ Formosa Petrochemicals Corp. ของไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.05%S ปริมาณ 240,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งมอบวันที่ 5 - 9 ส.ค. 58 และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 8 ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม State Oil Marketing Organization (SOMO)จากอิรักออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณ 2.6-3.0 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ 20 ก.ค. – 30 ก.ย. 58 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.5-69.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ