กสอ. จับมือ“ภาคีผู้เชี่ยวชาญ” รุกสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรม พร้อมเดินหน้าอบรม 4 หลักสูตรพัฒนาขีดความสามารถประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

ข่าวทั่วไป Monday July 20, 2015 10:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม รุกสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมกับประเทศ AECจึงได้ร่วมมือกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จัดทำโครงการฝึกอบรมประเทศเพื่อนบ้าน (Third CountryTraining Program: TCTP)เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี (ปี 2558 – 2562) เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ โดยนำร่องประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง หรือ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม จากการสำรวจพบว่าทั้ง 4 ประเทศมีความต้องการรับการฝึกอบรมด้านอุตสาหกรรมสนับสนุนในทิศทางเดียวกัน สามารถแบ่งออกเป็น 4 หลักสูตรยอดนิยม ได้ดังนี้ 1.หลักสูตรการสอนช่างให้เป็นครู (Diadatics for Technical Training)2.หลักสูตรพื้นฐานการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก(Fundamental of Injection Mould Design) 3.หลักสูตรพื้นฐานการควบคุมแบบอัตโนมัติ (Basic PLC Programming) และ 4.หลักสูตรพื้นฐานการใช้เครื่องกลึง CNC และการควบคุมด้วยโปรแกรม (Basic CNC Programming and operation) ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ข้างต้นแล้วจะช่วยปรับโครงสร้างพื้นฐานการสร้างองค์ความรู้ให้แก่แรงงานและบุคลากรอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศ CLMV ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบ ตลอดจนการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยสามารถขยายฐานการผลิตบางกลุ่มผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวได้มากขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐและเป็นจุดเริ่มต้นของ SMEs ในการบุกเบิกเข้าไปหาตลาดและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ในอนาคตได้อย่างมั่นคง นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า การที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปลายปีนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน จึงได้ตั้งเป้าส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทย ให้สามารถขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มประเทศดังกล่าวได้ในอนาคต โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง หรือ CLMV อันได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยพิจารณาศักยภาพการพัฒนาระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง หรือ CLMVจะเห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนาที่ก้าวไกลกว่า เนื่องจากประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนจากการพัฒนาด้านเกษตรกรรมเป็นหลักไปเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมร่วมด้วย ในขณะที่กลุ่มประเทศ CLMV มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาการเกษตรกรรม และมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในระดับที่ไม่สูงนักดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศเหล่านี้ให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลกได้ ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลดีต่อประเทศไทยด้วยนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมมือกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)จัดทำโครงการฝึกอบรมประเทศเพื่อนบ้าน (Third Country Training Program: TCTP) เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี (ปี 2558 – 2562) นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจความต้องการรับการฝึกอบรมด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน ในประเทศเวียดนาม ลาว และพม่า เมื่อเดือนมีนาคม 2558ที่ผ่านมา พบว่าทุกประเทศมีความต้องการอบรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในทิศทางเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 หลักสูตรยอดนิยมที่มีความต้องการได้รับการส่งเสริมมากที่สุด คือ 1.หลักสูตรการสอนช่างให้เป็นครู (Diadatics for Technical Training)เพื่อยกระดับความสามารถช่างฝีมือให้สามารถถ่ายทอดความรู้ความสามารถต่อไปได้ 2.หลักสูตรพื้นฐานการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก(Fundamental of Injection Mould Design ) เพื่อสามารถใช้เทคโนโลยีในการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้3.หลักสูตรพื้นฐานการควบคุมแบบอัตโนมัติ (Basic PLC Programming)เพื่อสามารถประยุกต์ใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ได้และ 4.หลักสูตรพื้นฐานการใช้เครื่องกลึง CNC และการควบคุมด้วยโปรแกรม (Basic CNC Programming and operation)ให้สามารถในการควบคุมโปรแกรมและระบบอัตโนมัติได้โดยหลักสูตรดังกล่าวถือเป็นหัวใจหลักในการผลิตชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติกที่ใช้ในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์ เช่น ขวดพลาสติก และอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้การที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมสนับสนุนครั้งนี้ นอกจากเป็นการตอกย้ำว่าไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศอาเซียนและเป็นต้นแบบการพัฒนาสำหรับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงแล้ว ยังเชื่อมั่นว่าภายหลังการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ข้างต้นแล้ว จะช่วยปรับโครงสร้างพื้นฐานการสร้างองค์ความรู้ให้แก่แรงงานและบุคลากรอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศ CLMV ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบ ตลอดจนการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยสามารถขยายฐานการผลิตบางกลุ่มผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวได้มากขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐและเป็นจุดเริ่มต้นของ SMEs ในการบุกเบิกเข้าไปหาตลาดและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ในอนาคตได้อย่างมั่นคงทั้งนี้ประเทศ CLMV มีประชากรรวมกันประมาณ 170 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน อย่างไรก็ตามในปี 2557 ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมโดยภาพรวมไปยังกลุ่มประเทศนี้สูงถึง6 แสนล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสแรกปี 2558 ไทยส่งออกไปยัง CLMV แล้วประมาณ 1.79 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ10.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ข้อมูล: หอการค้าแห่งประเทศไทย,พฤษภาคม 2558) นายอาทิตย์ กล่าว ทั้งนี้ สำหรับการจัดกิจกรรมฝึกอบรมดังกล่าวจะทำการคัดเลือกผู้เข้าร่วมฝึกอบรมที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรอุตสาหกรรมในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ประเทศละ 5 ราย รวมทั้งหมดเป็น 20 ราย เข้ารับการอบรมและนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับบุคลากรในประเทศของตนเองต่อไป โดยในปีแรกนี้จะจัดการอบรมขึ้นในเดือนกันยายน 2558 ภายใต้หลักสูตรการพัฒนาทักษะการผลิตวัสดุอุปกรณ์สำหรับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Skill development for Material Processing for Mekong Countries) นายอาทิตย์ กล่าวสรุป สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน 0 2367 8100-1 หรือเว็บไซต์ http://bsid.dip.go.th หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.thหรือwww.facebook.com/dip.pr

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ