วว. จับมือม.มหาสารคามอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าสาหร่ายเห็ดลาบสู่ผลิตภัณฑ์สากล

ข่าวเทคโนโลยี Friday December 23, 2005 09:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ใช้ประโยชน์สาหร่ายเห็ดลาบอย่างยั่งยืน เผยมีประโยชน์ต่อวงการเกษตรเป็นสารปรับโครงสร้างดิน / ใช้เป็นสารเพิ่มความข้นเหนียวในอุตสาหกรรมอาหาร สร้างสรรค์เมนูอาหารหลากหลายชนิดเทียบชั้นผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่น ระบุคุณค่าโภชนาการเพียบ..โปรตีน 20% ใยอาหารสูงถึง 43%
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า จากการที่ วว. ได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำรวจสาหร่ายเห็ดลาบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและใช้ประโยชน์จากสาหร่ายเห็ดลาบอย่างยั่งยืน โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT, สกว.-ศช.) นั้นพบว่า สาหร่ายชนิดนี้มีการเจริญเติบโตแพร่กระจายบนดินเค็มในพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติป่าดูนลำพัน ในเขตอำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคามและพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะมีปริมาณมากในฤดูฝน เมื่อฝนตกทำให้สาหร่ายซึ่งในหน้าร้อนจะหดตัวเป็นแผ่นบางกรอบคล้ายกระดาษ จะดูดซับน้ำฝนขยายตัวเป็นแผ่นวุ้นบางไม่มีรสชาติ มีเนื้อนิ่มหยุ่นแต่กรอบ คล้ายสาหร่ายทะเลวากาเหมะ (Wakame, Undaria pinnatifida) ที่นิยมบริโภคในญี่ปุ่น
ทั้งนี้ สาหร่ายเห็ดลาบของไทยจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าสาหร่ายทะเล วากาเหมะของประเทศญี่ปุ่น ก็คือ ไม่มีกลิ่นคาว อีกทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นยังมีความเชื่อว่า สาหร่ายเห็ดลาบเป็นยาเย็น ช่วยรักษาระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ชาวบ้านนิยมเก็บไปบริโภคเป็นประจำทุกปีในฤดูฝน ภายใต้โครงการดังกล่าวคณะวิจัยได้ทำการวิจัยและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และประสบความสำเร็จในการศึกษาข้อมูลพื้นฐานสูตรอาหารที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเห็ดลาบ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อยกระดับสาหร่ายไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิชาการ ศูนย์จุลินทรีย์ วว. กล่าวในฐานะนักวิจัยโครงการว่า ศูนย์จุลินทรีย์ ได้ร่วมกับฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากสาหร่ายเห็ดลาบทั้งอาหารคาว หวาน ขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม ดังนี้ อาหารคาว ได้แก่ ผงโรยข้าว (Thai dancing, furikake), ลาบ, ซุปใส, ซุปเต้าหู้ และสาหร่ายแผ่นดองเปรี้ยว-เค็ม อาหารหวาน ได้แก่ วุ้นสาหร่าย (รสชาเขียว รสกะทิ) และเจลลี่สาหร่ายรสผลไม้ อาหารขบเคี้ยว ได้แก่ ทองแผ่นสาหร่าย (รสหวาน รสเค็ม) คุ้กกี้ ข้าวเกรียบ บิสกิต และสาหร่ายแผ่นปรุงรส เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำข้าวผสมสาหร่ายรสผลไม้ (สับปะรด กระเจี๊ยบ มะนาว) และน้ำมะนาวสูตรสาหร่ายเห็ดลาบ
นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์สาหร่ายเห็ดลาบในระยะยาวโดยการแช่แข็งที่อุณหภูมิ —85 องศาเซลเซียสโดยใช้ไดเมทิลซัลฟอกไซด์ 3% เป็นสารป้องกันเซลล์ ซึ่งจะทำให้สาหร่ายเห็ดลาบไม่มีการสูญพันธุ์ในอนาคต และขณะนี้ วว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อยู่ในระหว่างการวิจัยพัฒนาเทคนิคเพื่อผลิตสาหร่ายเห็ดลาบในเชิงการค้าต่อไป
“ ผลการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของสาหร่ายเห็ดลาบจากแหล่งธรรมชาติ พบว่า มีโปรตีน 20% โดยมีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่ครบถ้วน มีไขมันต่ำเพียง 0.02% และมีใยอาหารสูงถึง 43% ส่วนสาหร่ายเห็ดลาบที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการด้วยสูตรอาหารที่เหมาะสม พบว่า มีวิตามินเอเพิ่มเป็น 9 เท่า มีกรดอะมิโนจำเป็น เมไทโอนีน และทริปโตเฟน เพิ่มเป็นประมาณ 5 และ 3 เท่า ตามลำดับ ในขณะที่มีใยอาหารเพียง 1 ใน 16 ส่วนของตัวอย่างจากแหล่งธรรมชาติ เนื่องจากใยอาหารที่เป็นพอลิแซ็กคาไรด์จะถูกผลิตในรูปของเหลวที่หลั่งออกนอกเซลล์ มากกว่าการผลิตในรูปของเมือกห่อหุ้มเซลล์ ซึ่งพอลิแซ็กคาไรด์ที่หลั่งออกนอกเซลล์นี้มีศักยภาพการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดยเป็นสารปรับโครงสร้างดิน หรือใช้ในอุตสาหกรรมอาหารโดยเป็นสารเพิ่มความข้นเหนียว ” ดร.อาภารัตน์กล่าว
ดร.อาภารัตน์กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยยังได้ทำการวิเคราะห์ด้านจุลินทรีย์ซึ่งพบว่า ไม่มีการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ก่อโรคในสาหร่ายเห็ดลาบแต่อย่างใด ส่วนผลการวิเคราะห์สารปนเปื้อนอนินทรีย์จากโลหะหนัก ปรอท ตะกั่ว และสารหนู พบว่าไม่เกินค่าตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เช่นกัน อีกทั้งการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากของสาหร่ายเห็ดลาบในหนูทดลองตามวิธีมาตรฐานของ OECD Guidelines for Testing of Chemical 1993 ก็ไม่ปรากฏความเป็นพิษโดยหนูทุกตัวแสดงอาการปกติ และตรวจไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายในจากการชันสูตรซากหนูทุกตัวเมื่อสิ้นสุดการทดสอบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาหร่ายเห็ดลาบมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
อนึ่ง “สาหร่ายเห็ดลาบ” ในความเป็นจริงก็คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว (blue-green alga, cyanobacterium) ที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจน (N2-fixation) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nostoc commune Vaucher เนื่องจากสาหร่ายนี้มีลักษณะเป็นแผ่นวุ้นแบนบางคล้ายเห็ดหูหนูสีเขียวที่ขึ้นบนดิน และชาวบ้านนิยมเก็บไปทำลาบ จึงได้ชื่อประจำท้องถิ่นว่า “เห็ดลาบ”
สาหร่ายน้ำจืดในสกุล Nostoc เป็นอาหารท้องถิ่นที่นิยมรับประทานในหลายประเทศทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยเคยมีรายงานถึงสาหร่ายที่รับประทานได้ในสกุลนี้ในชื่อ “ไข่หิน” หรือ “ดอกหิน” ในปัจจุบันได้สูญหายไปจากท้องถิ่นจนไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งต่างจากสาหร่ายเทา หรือเตาน้ำ (Spirogyra spp.) และสาหร่ายไก (Cladophora spp.) ที่ยังเป็นที่นิยมบริโภคในหลายพื้นที่ในแถบจังหวัดภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจทั่วไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับบริการเกี่ยวกับสาหร่ายหรือจุลินทรีย์ ได้ที่ ศูนย์จุลินทรีย์ วว. โทรศัพท์ 0 2577 9000 ต่อ 9030 , 9034 ในวันเวลาราชการ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ