สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 10-14 ส.ค.58 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 17-21 ส.ค. 58

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 17, 2015 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig)ในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 672 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ส.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะ การซื้อสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 17,173 สัญญา มาอยู่ที่103,918 สัญญา ต่ำสุดในรอบ 5 ปี · Reuters รายงานอุปสงค์น้ำมันดิบของจีนเดือน ก.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 4.2% อยู่ที่ 10.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ เดือน ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.2% อยู่ที่ 4.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน · บริษัทน้ำมันแห่งชาติอิรัก State Oil Marketing Organization หรือ SOMO รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ Basrah Light และ Basrah Heavy ในเดือน ก.ย. 58 ปริมาณรวมอยู่ที่ระดับ 3.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่งออกน้ำมันดิบ Basrah Light ปริมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 70,000 บาร์เรลต่อวัน ) และส่งออกBasrah Heavy 1.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 398,000 บาร์เรลต่อวัน) ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นและการส่งออกที่ท่า Basrah มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ส.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 453.6 ล้านบาร์เรล · EIA ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2558 ลง 1.2% จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้ามาอยู่ที่ 9.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปรับลดคาดการณ์ปี 2559 ลง 0.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ 8.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำส่งผลให้หลุมผลิตน้ำมันลดลง · IEA ประเมินอุปสงค์น้ำมันดิบของโลกปี 2558 และ 2559 จะเติบโตที่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์ครั้งก่อน 260,000 บาร์เรลต่อวัน และ 410,000บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ จากภาวะเศรษฐกิจโลกกระเตื้องขึ้นและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงกระตุ้นการใช้น้ำมัน · National Development and Reform Commission (NDRC) ของจีน ปรับเพิ่มโควตาการนำเข้าน้ำมันดิบให้แก่บริษัทโรงกลั่นน้ำมันเอกชน ได้แก่ Baota Petrochemical Group และ Paijin Beifang Asphalt Fuel Co. โดยมีโควตา 123,200 บาร์เรลต่อวัน และ 140,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ อนึ่งตั้งแต่เดือน ก.พ. 58 จนถึงปัจจุบันจีนปรับเพิ่มโควตาโดยรวมแล้ว 715,800 บาร์เรลต่อวัน · กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เผยยอดสินค้าขายปลีก (Retail Sales) เดือน ก.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.6% มากกว่าผลสำรวจของนักวิเคราะห์โดย Bloomberg เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจมากขึ้น บ่งชี้การใช้จ่ายภายในประเทศแข็งแรง แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบยังเป็นขาลง เห็นได้จากกลุ่มผู้จัดการกองทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบ WTI กระทั่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากภาวะอุปทานล้นตลาดไม่มีทีท่าคลี่คลาย หลังกลุ่ม OPEC มีแนวโน้มผลิตน้ำมันดิบเหนือระดับ 33 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันโอมาน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตนอก OPEC รายใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ล่าสุดผลิตน้ำมันดิบเกิน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ ก่อความวิตกว่าการลดการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ อาจไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าจำนวน Rig จะกลับมาลดลง ด้วยราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ลดลงอย่างรุนแรงกว่า 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล กระทั่งล่าสุดอยู่ที่ระดับ 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะทำให้ผู้ผลิตจำต้องชะลอการขุดเจาะลงชั่วคราว ทางด้านประเด็นการยกเลิกหรือผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ล่าสุด Iran Petrochemical Commercial Company เผยว่าอิหร่านเพิ่มการส่งออกปิโตรเคมีได้ 20-25% ภายในเวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกปิโตรเคมีในปี 58 อยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่ได้มีการคว่ำบาตรภาคปิโตรเคมีของอิหร่านโดยตรง แต่การคว่ำบาตรภาคธนาคาร การประกันภัย และการขนส่งทำให้ส่งออกลำบาก ส่วนกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคของราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI และDubai สัปดาห์นี้อยู่ที่ 47.7-52.3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, 40.7-45.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 46.7-51.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินมีแนวโน้มลดลงจาก China Association of Automobile Manufacturers รายงานยอดขายรถยนต์ในจีนเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ 1.5 ล้านคัน ลดลงจากเดือนก่อน 16.6% และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.12% และ อัตราการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นของเอกชนทางตะวันออกของจีนที่ใช้น้ำมันดิบหรือน้ำมันเตากลั่นน้ำมันเบนซินและดีเซล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ส.ค. 58 อยู่ที่ 38.42% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.3% อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือ Tianjin ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทำให้เรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีรวมกว่า 24 ลำ ต้องรอคอยไม่สามารถเข้าออกบริเวณท่าดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13-17 ส.ค. 58 เนื่องจากความเสี่ยงจากเพลิงที่ยังลุกไหม้ อาจทำให้เกิดการระเบิดได้อีก ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 12 ส.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 11.8 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินในยุโรป บริเวณ Amsterdam-Antwerp-Rotterdam (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 6 ส.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล หรือ 11.3 % อยู่ที่ 8.4 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.7-71.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Reuters รายงาน GS Caltex Corp. ของเกาหลีใต้มีแผนลดอัตราการเดินเครื่องโรงกลั่น Yeosu (785,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน ส.ค. 58 นี้ ลงเกือบ 3% จากเดือนก่อน และในเดือน ก.ย. 58 ลดลงอีกมาอยู่ที่ระดับ 720,000 บาร์เรลต่อวัน และ SK energy ของเกาหลีใต้มีแผนลดอัตราการเดินเครื่องโรงกลั่น Ulsan (840,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงปลายปี 58 ลง 4 % จากไตรมาส 2/58 มาอยู่ที่ 82 %เนื่องจากค่าการกลั่น (Refining Margin) ตกต่ำ ประกอบกับสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานปริมาณการกลั่นน้ำมัน เดือน ก.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 2.8 % อยู่ที่ 10.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 12 ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน59,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล ในยุโรป บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 6 ส.ค. 58 เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล หรือ 5.8 % อยู่ที่ 25.3 ล้านบาร์เรลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55.7-60.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ