กสอ. เปิด 5 รายชื่ออุตสาหกรรมทำเงินแห่งอนาคต พร้อมรุกปั้นผู้ประกอบการสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday August 28, 2015 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กสอ. หนุนไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์” แห่งอาเซียน เร่งปั้นภาคการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สร้างมูลค่าอุตสาหกรรมพร้อมตั้งเป้าลดมูลค่าการนำเข้า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ดีมานด์ อุตสาหกรรมโลกในอนาคต เปิด 5 รายชื่ออุตสาหกรรมทำเงิน พร้อมตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการภายใน 10 ปี ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด 2. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3. อุตสาหกรรม ไบโอพลาสติก 4. อุตสาหกรรมอากาศยาน 5. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยปี 2558 นำร่องพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผ่านการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อส่งเสริมให้เกิดการส่งออกเพิ่มขึ้น และลดการนำเข้า จึงมีความจำเป็นการผลักดันให้เกิด การพัฒนาเทคโนโลยี คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายชนิดที่มีมูลค่า เพิ่มมากขึ้น พร้อมผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน (Medical Hub of ASEAN) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศโดยปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเทศไทย มีขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมไทยในอนาคตจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ จะหันไปลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพของมนุษย์เพิ่มขึ้น กสอ. ตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้เร่งวางรากฐานส่งเสริมศักยภาพให้ SMEs ไทย ซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ สามารถก้าวสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างมั่นคง โดยมี 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่น่าจับตามอง ได้แก่1. อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด 2. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3. อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก 4. อุตสาหกรรมอากาศยาน 5. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ จะพยายามผลักดันให้ทั้ง 5 อุตสาหกรรมข้างต้น มีสัดส่วนสูงขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ของประเทศไทย เนื่องจากพบว่าในปี 2557 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 5 แสนคน ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปี ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (ข้อมูล: สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ส่งผลให้เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ประเทศไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ เพราะอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ ทางการแพทย์ของไทยมีทิศทางและการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มทุกปีเฉลี่ยปีละ 6.51 ขณะที่ในปี 2557 มีการส่งออกรวมกว่า 9.34 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึงร้อยละ 14.04 โดยกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคมีการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 19.52 รองลงมาคือครุภัณฑ์และวัสดุสิ้นเปลือง คิดเป็นร้อยละ 18.21 และ 13.41 ตามลำดับ (ข้อมูล: Global trade atlas รวบรวมโดย สถาบันพลาสติก) ขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ลดลงร้อยละ 3.35 เมื่อเทียบกับปี 2556 มีมูลค่านำเข้า 5.03 หมื่นล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่คือวัสดุสิ้นเปลืองฯ และครุภัณฑ์ฯ นางสาวนิสากร กล่าว ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการส่งออกเพิ่มขึ้น และลดการนำเข้าจึงมีความจำเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในไทยกว่า 500 ราย (ข้อมูล: กรกฎาคม 2558, กองควบคุมเครื่องมือแพทย์) โดยปี 2558 นี้ กสอ. นำร่องพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน (Medical Hub of ASEAN) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต ในด้าน ๆ ได้แก่ การพัฒนาสถานประกอบการและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตแก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนา สถานประกอบการด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์ นางสาวนิสากร กล่าวสรุป ด้าน นายจารุเดช คุณะดิลก กรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม.อี. เมดิเทค จำกัด กล่าวว่าเอ็ม.อี.เมดิเทค เป็นบริษัทที่ทำการค้าทั้งภายในและนอกประเทศมาตลอด เช่น ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร รัสเซีย ฯลฯ โดยบริษัทเน้นการผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นหลัก และการนำเข้าและจำหน่ายเครื่องฟอกไต ปัจจุบัน เอ็ม.อี.เมดิเทค ครองอันดับผู้มีสัดส่วนทางการตลาดสูงที่สุดในหมวดผลิตภัณฑ์ที่ให้สารละลายเข้าสู่เส้นเลือด หรือ “ชุดให้น้ำเกลือ” ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 70 ทั้งนี้ ด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปี เอ็ม.อี. เมดิเทค ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน การควบคุมการผลิต การวางแผนทางการตลาด แต่ปัจจุบันการแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีความรุนแรงขึ้น เราจึงมุ่งเน้นที่จะสร้างองค์กร ให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมในด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยบริษัทได้ปรับเปลี่ยนนโยบายเข้าสู่การ สร้างนวัตกรรมอย่างมีรูปแบบและเป็นระบบ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ โครงการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน (MDICP) กิจกรรมสร้างและพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ (Cluster) กิจกรรมสังคมผู้ประกอบการการผลิตได้ผล คนเป็นสุข รุ่นที่ 1-2 กิจกรรม ASEAN CEO Network Enhancing Project ครั้งที่ 2 กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs สู่ตลาดอินโดนีเซีย กิจกรรมเพิ่มศักยภาพ SMEs ไทยในการเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศ รุ่นที่ 3/57 กิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ SMEs และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ โครงการเพิ่มศักยภาพการวางแผนภาษี สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รุ่นที่ 3/56 เป็นต้น นายจารุเดช กล่าว นายจารุเดช กล่าวเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ว่าอยู่ในลักษณะของการให้คำปรึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ กระบวนการทำงาน การบริหารจัดการให้กับบริษัท อาทิ การพัฒนาด้านกระบวนการผลิต การบริหารจัดการเทคโนโลยี การบริหารการบัญชี การเงิน และ การวางแผนภาษี การเสาะหาช่องทางการตลาด ทั้งนี้ ทุกกิจกรรมช่วยให้เอ็ม.อี.เมดิเทค ได้รู้จุดยืน ของตัวเอง และรู้ว่าควรเดินไปทางไหน จึงนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเข้าสู่ตลาดใหม่ ซึ่งในเมื่อบริษัทเชี่ยวชาญการผลิตสินค้าในหมวดหมู่ที่เป็นกลุ่มสายละลายเข้าเส้นเลือดแก่ผู้ป่วยและ กลุ่มถุงบรรจุของเหลวที่ถ่ายทิ้งของเสียจากผู้ป่วย จึงพยายามใส่นวัตกรรมเข้าไปในผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบัน ก็ได้เข้าสู่สายธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพไปแล้ว เช่น ถุงแยกองค์ประกอบของเม็ดเลือดไปทำวัคซีน ถุงบรรจุน้ำยาล้างช่องท้องผู้ป่วยโรคไต ฯลฯ นายจารุเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า น่าเสียดายว่าในอุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในไทยนั้น ในแง่ของวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และบรรจุภัณฑ์บางชนิด ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอยู่ เนื่องจากไทยยังขาดแคลนบุคลากรในสายงานเทคนิคการแพทย์และวัสดุศาสตร์เฉพาะทาง ไทยจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างคนตั้งแต่วัยเรียน ตลอดจนเรื่องการขาดศูนย์ทดสอบกลางที่ได้มาตรฐาน เพราะเครื่องมือแพทย์ต้องมีการทดสอบต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งหากไทยสามารถมีห้องทดสอบกลางที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานเดียวกันได้ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าในประเทศ สามารถตอบสนองการบริการทางการแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาลได้อย่างทั่วถึง ก็จะส่งผลให้ผู้เข้ามารับบริการในประเทศไทยมั่นใจในประสิทธิภาพการแพทย์ของไทยได้สู่การเป็น Medical Hub of ASEAN ได้ในไม่ช้า สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามเกี่ยวกับโครงการ ต่าง ๆ ได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ