แพทย์เตือนทุกพื้นที่ ระวัง “โรคไข้เลือดออก”

ข่าวทั่วไป Friday September 4, 2015 12:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--โรงพยาบาลปิยะเวท โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) โดยมีพาหะนำโรคคือยุงลาย(Aedes aegyti) มักมาพร้อมกับฝนและน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างดี ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้ตลอดทั้งปี แต่มักพบมากในช่วงฤดูฝน สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกประจำปี 2558 จากกลุ่มระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วกว่า 50,000 ราย และพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้กว่า 40 ราย (ข้อมูลวันที่ 22 ส.ค.58) จึงนับเป็นโรคที่ควรเฝ้าระวังในช่วงนี้ พญ.กรุณา อธิกิจ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า "เราสามารถพบคนไข้ ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในช่วงฤดูฝน เพราะเมื่อฝนตกบ่อยและมีน้ำขังถือว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ดีก็ว่าได้ นับว่าโรคไข้เลือดออกเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสาธารณสุขและวงการแพทย์อยู่ไม่น้อย เพราะ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สาเหตุของโรคไข้เลือดออกเกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัส Dengue ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี 1 เดงกี 2 เดงกี 3 และเดงกี 4 การติดเชื้อครั้งแรกมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยที่เชื้อต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อกได้ โดยมีพาหะนำโรคคือยุงลายที่เมื่อถูกยุงกัดเชื้อก็จะแพร่กระจายเข้าสู่คน ในช่วงที่มีไข้ หากยุงกัดคนในช่วงนี้ก็จะรับเชื้อไวรัสมาแพร่ให้กับคนอื่น เมื่อผู้ป่วยถูกยุงที่มีเชื้อกัดจะแสดงอาการประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) โดยที่ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความรุนแรงของอาการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น โรคไข้เลือดออกนี้มีอาการทางคลินิกค่อนข้างชัดเจนคือ มีไข้สูงลอย (38.5 – 41 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ร่วมกับปวดตามกล้ามเนื้อมาก บางรายมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง อาจพบมีตับโต คือมีอาการกดเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา และมีภาวะช็อกในรายที่รุนแรง หากรักษาไม่ทันผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนสำหรับป้องกันหรือต้านเชื้อไวรัสเดงกีโดยเฉพาะ แนวทางการรักษาจึงทำได้เพียงรักษาตามอาการและประคับประคองอาการเท่านั้น ซึ่งจะเป็นผลดีที่สุดต่อผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น ที่แพทย์วินิจฉัยพบ และได้รับการรักษาก่อนที่อาการของโรคจะรุนแรง สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคไข้เลือดออกคือ หลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดเป็นสำคัญ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น แหล่งน้ำขังภายในบริเวณที่อยู่อาศัย สวมเสื้อผ้ามิดชิดหากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกในเวลากลางคืน เป็นต้น และถ้าหากพบว่าตนเองหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการต้องสงสัยว่าจะป่วยเป็นไข้เลือดออก คือ มีไข้เฉียบพลัน นานติดต่อกันเกิน 3 วัน ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือไปซื้อยาลดไข้มารับประทานเอง เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะไปพบแพทย์ช้า จะไปเมื่อมีอาการมากแล้ว แนะนำว่าควรไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ โรคไต เพราะต้องรับการรักษาอย่างทันท่วงที" หยุดโรคไข้เลือดออก ปกป้องตัวคุณเองและคนที่คุณรักให้ห่างไกลไข้เลือดออก ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สิ่งแวดล้อมดี อะไร ๆ ก็ดี
แท็ก โรคติดต่อ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ