เบี้องหลังภาพโศกนาฏกรรมจากภัยธรณีพิบัติ บันทึกส่วนตัวของผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นกับการรายงานข่าวสึนามิ

ข่าวทั่วไป Friday January 14, 2005 08:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--ซีเอ็นเอ็น
จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เข้าถล่มประเทศในเขตเอเชียใต้ เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้ส่งผู้สื่อข่าวเข้าไปประจำยังจุดสำคัญตามประเทศต่างๆ ในเขตเอเชียใต้ เพื่อทำการถ่ายทอดเรื่องราวความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของสึนามิที่เข้าถาโถมทำลายล้างสิ่งต่างๆรวมถึงชีวิตของผู้คนจำนวนมาก พร้อมประสานงานในส่วนทั้งข้อมูลและเป็นกระบอกเสียงในการร้องขอความช่วยเหลือให้แก่ชาวโลกได้รับทราบทั่วกัน บทความด้านล่างนี้คัดมาจากส่วนหนึ่งของบทความ 6 บทความ เขียนโดยผู้สื่อข่าวของซีเอ็นเอ็นที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในการถ่ายทอดเรื่องราวนี้
บันดา เอช ประเทศอินโดนิเซีย
ฉันไม่แน่ใจว่าความเป็นกลางของผู้สื่อข่าว ท่ามกลางเหตุการณ์เช่นนี้จะยังมีอยู่หรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้สื่อข่าวอย่างแน่นอน สิ่งที่ผู้สื่อข่าวจะทำได้ดีที่สุดก็คือพยายามรักษาความเป็นมืออาชีพให้มากที่สุด และพึงระลึกไว้เสมอว่าคุณกำลังทำหน้าที่เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าคุณสามารถที่จะเกิดความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่คุณจะต้องมั่นใจว่าคุณได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกไป เพราะว่าข่าวนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทุกคนต้องการทราบมากที่สุด และเมื่อพวกเราเดินทางไปยังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองบันดา เอช เราได้พบกับคำถามจากผู้คนมากมาย ณ ที่นั้นว่า ‘ทำไมโลกไม่ให้ความช่วยเหลือแก่พวกเรา คุณจะต้องแจ้งข่าวแก่โลกเพื่อขอความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด’ และนี่เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เตือนใจให้เราได้ตระหนักว่า งานของผู้สื่อข่าวมิได้มีเพียงแต่การพยายามมาให้ได้ซึ่งข่าว และถ่ายทอดเรื่องราวนั้นๆออกไปเท่านั้น แต่เรามีหน้าที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนที่ประสบภัยด้วย ถึงแม้ว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นแค่เพียงการรายงานบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้โลกได้รับทราบเท่านั้น แต่ผู้คน และเด็กๆ เหล่านี้ต้องอาศัยคุณกระบอกเสียงในการส่งผ่านข้อความที่ร้องขอความช่วยเหลือออกไปสู่โลก”
อาติกะ ชูเบิร์ท ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น ศรีลังกา
“พวกอาสาสมัครต้องทำงานหนักเพื่อขนย้ายและฝังผู้เสียชีวิต ผมยังจำภาพของเด็กหญิงอายุประมาณ 3-4 ปีนอนนิ่งอยู่ หนึ่งในอาสาสมัครช้อนร่างของเด็กหญิงขึ้น และหมุนตัวเล็กน้อยพร้อมทิ้งร่างไร้วิญญานนั้นลงในหลุม พวกเราไม่ได้บันทึกภาพไว้ เพราะเราพยายามที่จะทำความเข้าใจกับความจำเป็นในการฝังศพหมู่ และในตอนนั้นเองที่ผมก็เหลือบไปเห็นช่างภาพของผมที่กำลังมองภาพเดียวกับผมอยู่ และไม่กี่วินาทีต่อมา เขาหันหลังกลับ ตาของเรามาประสานกันในชั่วขณะหนึ่ง เราทั้งสองไม่สามารถพูดอะไรออกมา ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องเอ่ยออกมาเป็นคำพูดเลย”
ฮิวจ์ ไรมินตัน พิธีกรและผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น
ภาคเหนือของศรีลังกา
“ความเลวร้ายของโศกนาฏกรรมครั้งนี้มีผลกระทบกับผมหลังจากที่ผมมาถึงบริเวณนี้ได้ราวหนึ่งชั่วโมง เรารู้สึกงุนงงกับภาพที่ผมได้พบเห็น เมื่อเราเดินผ่านร่างผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง ซึ่งจากจุดที่ผมยืนอยู่ ทำให้ผมมองเห็นได้ชัดว่าผู้เสียชีวิตนี้เป็นร่างของเด็ก 3 คนที่มีอายุน้อยมาก มือของเขาทั้งสามเกี่ยวกอดกันอยู่ ทั้งสามคนเสียชีวิตด้วยกัน ในชั่วขณะนั้นเองที่ผมไม่ได้รู้สึกตัวว่าผมเป็นผู้สื่อข่าว “ผมไม่สามารถสวมวิญญานของนักข่าวได้เลยในขณะนั้น หลังจากที่ได้เห็นภาพอันสะเทือนใจนี้ ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงลูกชายทั้งสามคนของผมขึ้นมาทันที เมื่อจ้องมองภาพเด็กน้อยทั้งสามที่นอนกอดกันอยู่ทำให้ผมคิดถึงลูกๆของผมขึ้นมาอย่างจับใจ และนั่นเองที่ทำให้ผมเองได้คิดว่าสิ่งต่างๆแม้เป็นเพียงสิ่งเล็กๆน้อยๆ ล้วนมีความสำคัญในตัวเองทั้งสิ้น”
สแตน แกรนท์ ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น ประเทศไทย
“ผมไม่เคยรายงานข่าวอะไรแบบนี้มาก่อนในชีวิต ผมไม่เคยเห็นเหตุการณ์อะไรที่ช่างเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงเช่นนี้มาก่อน ทุกๆวันผมจะต้องได้พบกับภาพแห่งความเศร้า สะเทือนใจ ซึ่งภาพเหล่านี้จะเป็นภาพที่ตราตรึงอยู่ในใจของผมและยากจะลบเลือนได้แน่นอน”
อานีช รามัน ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น
อินเดีย
“ผมเคยทำข่าวสงคราม หรือเหตุการณ์อีกหลายๆเหตุการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกกลัว แต่ในกรณีนี้ ผมไม่คิดว่าผมกลัวกับการการถูกฆ่าตายโดยการยิงแบบสุ่ม หรือถูกยิงโดยผู้ก่อการร้าย ข้อแตกต่างของที่นี่คือคุณกำลังเผชิญหน้ากับผู้คนที่ต้องสูญเสียทำสิ่งทุกอย่าง และทนทุกข์ทรมารอย่างแสนสาหัสในทุกๆใบหน้าที่คุณพบ”
ราม รามโกปาล ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น
เกาะอันดามันและนิโคบาร์
ผมถูกตั้งคำถามเสมอๆ ว่ารู้สึกลำบากใจการเห็นร่างของผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะร่างของเด็กๆหรือไม่ สำหรับผมสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกลำบากใจก็คือการเฝ้ามองผู้คนที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ผู้คนที่โศกเศร้าเสียใจกับการจากไปของผู้อันเป็นที่รัก ใบหน้าของพ่อแม่ที่สูญเสียลูกๆของตน ใบหน้าของเด็กน้อยที่สับสนไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นอีกในชีวิตของตน ไม่มีอะไรเลยที่จะสามารถปกป้องคุ้มครองเด็กๆเหล่านี้ให้พ้นไปจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นได้ และคุณสามารถเห็นความกลัวที่เกาะกินจิตใจของเด็กๆเหล่านี้ และที่สำคัญที่สุด คือว่าความยิ่งใหญ่ของจิตใจของผู้คนที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างจนเหลือแต่ตัวคงไว้แต่หัวใจอันยิ่งใหญ่ที่พร้อมจะบอกเล่าแบ่งปันเรื่องราวที่ตนได้ประสบมาแก่พวกเรา”
สุฮาสินี ไฮดาร์ ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น
หากต้องการเผยแพร่บทความฉบับเต็ม
สามารถติดต่อขอรับบทความได้ที่ ณัฐพร
โทร 02 233 4329 / 30 / 38 / 39
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ