กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ออกจันทร์ที่ 21 ก.ย. 58

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2015 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พพ. เร่งเครื่องตามนโยบายรัฐบาลเปลี่ยนขยะของเสียเป็นพลังงาน ชี้จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจากขยะ (COD) แล้ว 134.717 เมกะวัตต์ จาก 22 โครงการ และอนุมัติให้การไฟฟ้าเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) 246.060 เมกะวัตต์ จาก 26 โครงการ มั่นใจอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่แบบ FIT สำหรับขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม พร้อมกลไกเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎระเบียบ และการจัดโซนนิ่งศักยภาพพลังงานทดแทน จะช่วยส่งเสริมการลงทุนแปรรูปขยะให้เป็นพลังงานเพิ่มมากขึ้น นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในกลุ่มขยะของเสียเพื่อผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของรัฐบาลนั้น ปัจจุบันการผลักดันการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ ได้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้พลังงานจากขยะที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date :COD) แล้วทั้งสิ้น 134.717 เมกะวัตต์ จาก 22 โครงการ รวมทั้งมีโครงการที่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 101.656 เมกกะวัตต์ จาก 19 โครงการ และปัจจุบันมีโครงการที่มีศักยภาพได้รับอนุมัติการตอบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 7 โครงการ จำนวน 144.404 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภาพรวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะของประเทศไทยขณะนี้ มีมากถึง48 โครงการ กำลังผลิต 380.777 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ภาพรวมแนวทางการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะ กระทรวงพลังงานได้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff (FiT) สำหรับไฟฟ้าจากขยะ โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบ FiT เมือวันที่ 15 ธค.2557 สำหรับขยะชุมชน และ FiTสำหรับขยะอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 กพ. 2558 ตามลำดับ อีกทั้งกระทรวงพลังงานยังมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนดำเนินการภายใต้แผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (2558 – 2562) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน และมีโครงการหรือแผนงานที่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เช่น โครงการนำร่องการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรแบบกระจายศูนย์ โครงการศึกษาออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนระดับจังหวัด เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน จะได้เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาพลังงานขยะ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น ขอความร่วมมือในการแก้ไขผลักดันกฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองท้องถิ่น ในการส่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ให้มีความรู้ที่ถูกต้องในการบริหารจัดการขยะและโรงไฟฟ้าจากขยะ รวมถึงการประสานให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) สนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดโซนนิ่ง (Zoning) พื้นที่ที่มีศักยภาพจากพลังงานทดแทน โดยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานจากขยะเป็นลำดับแรกอีกด้วย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย.58)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ