สศท.3 ลงพื้นที่บ้านดงยาง ติดตาม 1ต.1ล. ชูโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว สร้างความเข้มแข็งสู่ชุมชน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 23, 2015 09:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 เผย โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทา ภัยแล้ง ณ บ้านดงยาง ตำบลบ้านแดง อำเภอพิบูลรักษ์ จังหวัดอุดรธานี ช่วยกลุ่มเกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ จากการปรับปรุงและต่อเติมโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ พร้อมตั้งกองทุนสำหรับซื้อพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกร เกิดเงินทุนหมุนเวียนในชุมชนให้มีสภาพคล่องมากขึ้น นายฉัตรชัย เต้าทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจที่ 3 จังหวัดอุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง (1 ตำบล 1 ล้านบาท) ของเกษตรกรพื้นที่ หมู่ที่ 4 บ้านดงยาง ตำบลบ้านแดง อำเภอพิบูลรักษ์ จังหวัดอุดรธานี โดยดำเนินการปรับปรุงและต่อเติมโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ซึ่งปกติจะมีการประกอบอาชีพการเพาะปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ผลผลิตจากการเพาะปลูกข้าวมีจำนวนมาก มีผลผลิตทั้งชุมชนประมาณ 10 ตัน แต่เนื่องจากในหมู่บ้านดังกล่าวยังไม่มียุ้งฉางข้าวเป็นของตนเอง ทำให้พื้นที่ในการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวและผลผลิตจากการเพาะปลูกข้าวไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกษตรกรต้องเผชิญปัญหาผลผลิตไม่ได้คุณภาพจากการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว ดังนั้น ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนในตำบลบ้านแดง (นายสมัย ไชยคำจันทร์) จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ขออนุมัติโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ซึ่งเป็นการปรับปรุงและต่อเติมโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้ในการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวและผลผลิตจากการเพาะปลูกข้าวจากสมาชิกและเกษตรกรจำนวน 270 ครัวเรือน ซึ่งอาคารดังกล่าวได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนปฏิบัติงานโครงการเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอาคารดังกล่าว เป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตข้าวชุมชน ช่วยให้เกษตรกรผลิตข้าวที่มีคุณภาพและใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ในการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้แก่สมาชิกและเกษตรกรในชุมชน นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับซื้อพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกรในชุมชน พร้อมทั้งสามารถยืมเมล็ดพันธุ์ข้าว 50 กิโลกรัม คืนผลผลิต 100 กิโลกรัม เพื่อนำส่วนต่างมาบริหารจัดการโครงการ รวมไปถึงมีการจ่ายเงินปันผลแก่สมาชิกในกลุ่มอีกด้วย ทำให้เกิดกระแสเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของชุมชนให้มีสภาพคล่องมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งนี้ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนฯ จึงเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดความร่วมมืออันดีระหว่างเกษตรกรในชุมชนและหน่วยงานองค์กรภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิการในการผลิต ลดปัญหาข้าวไม่ได้คุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่ายในครัวเรือน เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร เสริมสร้างความรู้ให้แก่เกษตรกรมากขึ้นให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่อง นำพาสู่ความเข้มแข็งของศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน บ้านดงยาง ได้อย่างยั่งยืนต่อไป นายฉัตรชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ