วธ.ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ปี 59 เน้นนำมิติวัฒนธรรมสร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศชาติ

ข่าวทั่วไป Friday October 2, 2015 09:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานในปี 2559 ภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรร จำนวน 8 พันล้าน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2015-2020 "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยได้กำหนดจุดเน้นใน 3 มิติ คือ 1.การปลูกฝัง ส่งเสริม พัฒนาสังคมไทย ให้เป็นสังคมที่มีความสงบสุข สร้างความรัก ความสามัคคี ปรองดอง เอื้ออาทร บนพื้นฐานค่านิยมแห่งความเป็นไทย 12 ประการ ตามนโยบายของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2.นำมิติทางวัฒนธรรมมาสร้างความอยู่ดีมีสุข การกินดีอยู่ดี นำรายได้ที่ยั่งยืนสู่ครัวเรือน ท้องถิ่น และประเทศชาติ จากการท่องเที่ยว สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม รวมถึงสินค้าจากภูมิปัญญาไทย และ3.นำมิติทางวัฒนธรรมมาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติ ซึ่งจัดการประชุมสัมมนาการขับเคลื่อนการดำเนินงานกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ในวันนี้ (30 กันยายน 2558) เพื่อให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมรับทราบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงฯ โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างส่วนราชการในสังกัด ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รมว.วธ. กล่าวต่อว่า กรอบการดำเนินงานในปี 2559 นี้ จะประกอบไปด้วยการดำเนินงานใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 ผ่านกิจกรรม อาทิ การบูรณะวัด 70 วัด การประพันธ์คำกลอนเฉลิมพระเกียรติ 70 บท จากศิลปินด้านภาษา วรรณกรรม 70 คน การสร้างผลงานสะท้อนพระราชกรณียกิจ 70 เหตุการณ์ จากศิลปินด้านจิตรกรรม และประติกรรม 70 คน รวมถึงการเสนอของที่ระลึกงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ทูลเกล้าฯในนามรัฐบาล ส่วนการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 โดยการรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยในชีวิตประจำวัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผ้าไทยเฉลิมพระเกียรติ และการปลูกต้นไม้ในอุทยานประวัติศาสตร์ 2.ด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล ได้แก่ การพัฒนาระบบชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน ระบบสืบค้นหนังสือและข้อมูลประวัติศาสตร์ ในหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในมิติศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 3.ด้านวิถีถิ่นวิถีไทย วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมอาเซียน มรดกไทย มรดกโลก อาทิ การส่งเสริมการยิ้ม ไหว้ สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ ประเพณีลอยกระทงอาเซียน สงกรานต์อาเซียน การขึ้นทะเบียนมรดกโลกและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมถึงการเตรียมดำเนินการปีรณรงค์ความเป็นไทย 4.ด้านการต่างประเทศ เช่น การทำข้อตกลงและแลกเปลี่ยนการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอาเซียน 5.ด้านกิจกรรม โครงการสำคัญ อาทิ ชุมชนวัฒนธรรม ชุมชนคุณธรรม และการผลิตสื่อเผยแพร่วิชาการด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆที่สำคัญ อาทิ การร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมการดำเนินตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ทั้งนี้ จะดำเนินการโดยเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ในแหล่งศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงคุณค่าและความเป็นไทย รวมถึงการดำเนินงานเชิงเศรษฐกิจในการสร้างรายได้ต่อประเทศต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ