รมว.พม. เผยสถิติปัญหาสังคมที่รายงานใน ศปก.พม. ๑ ปี มีผู้ประสบปัญหาทางสังคม ๒๐,๐๐๐ กว่าราย ระบุต้องป้องกันแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกันทุกภาคส่วน พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหาทางสังคม ที่จังหวัดชัยนาท นครราชสีมา นราธิวาส และพังงา

ข่าวทั่วไป Friday October 2, 2015 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (๑ ต.ค. ๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่๒๕๒/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาสังคมและการให้ความช่วยเหลือในกรณีสำคัญ เร่งด่วนตามข้อสั่งการของตนและผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในการประชุม ศปก.พม. ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗ ถึง วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ พบว่ามีข้อมูลข่าวสารปัญหาสังคมจากสื่อมวลชนและสื่อทางสังคม (Social Media) ที่ได้รับการนำเสนอในที่ประชุม จำนวนทั้งสิ้น ๕๒๗ กรณี และมีข้อสั่งการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๓๙๑ กรณี นอกจากนี้ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC มีประชาชนผู้ประสบปัญหาทางสังคม จำนวนทั้งสิ้น ๒๑,๕๔๘ ราย โดยพบว่าปัญหาสังคมส่วนใหญ่ ได้แก่ ผู้ด้อยโอกาสที่ประสบปัญหาความยากจน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาพฤติกรรมเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการทิ้งทารกแรกเกิด และปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและสตรี ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันดำเนินการป้องกันแก้ไข ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ปัญหาสังคมต่างๆ ลดลงในปีต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนได้เน้นย้ำความสำคัญของ ศปก.พม. ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์และครอบคลุมทุกพื้นที่ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า จากกรณี ด.ญ.อายุ ๕ ขวบ มีอาการป่วยสมองขาดออกซิเจน มีเลือดออกในสมอง พิการตั้งแต่กำเนิด ต้องให้อาหารทางสายยาง อาศัยอยู่กับปู่และย่า ครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่มีเงินรักษาที่ จ.ชัยนาท กรณีหญิงอายุ ๕๔ ปี รับภาระเลี้ยงดูลูก ๓ คน ตามลำพัง ซึ่งลูก ๒ คน มีอาการป่วยพิการทางสมอง และเป็นโรคโปลิโอ แขนขาลีบช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มาแต่กำเนิด โดยทุกวันต้องออกไปทำงานรับจ้าง ต้องทิ้งลูกพิการไว้ตามลำพังไม่มีใครดูแล ที่ จ.นครราชสีมา และกรณีหญิง อายุ 41 ปี หย่ากับสามีต้องรับภาระดูแลลูก 3 คน โดยเฉพาะลูกชายอายุ 20 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุทำให้เป็นผู้ทุพพลภาพ นอนป่วยอยู่กับเตียง สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงซึ่งต้องดูแลอย่างใกล้ชิดมานานกว่า 4 ปี ที่ จ.นราธิวาส ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทั้งสามจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยในแต่ละครอบครัวอย่างต่อเนื่อง "สำหรับกรณีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จนเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่จังหวัดพังงา ซึ่งพบบ้านเรือนเสียหายกว่า ๗๐๐ หลังคาเรือน อีกทั้งสะพานขาด ถนนพัง ตลิ่งทรุด และน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา (พมจ.พังงา) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและสำรวจประชาชนกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงการพัฒนาฯ โดยเฉพาะเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และคนพิการ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และเร่งช่วยเหลือตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ