เตือนอันตราย...สารบอแรกซ์ในอาหาร

ข่าวทั่วไป Thursday October 30, 1997 19:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--30 ต.ค.--อย.
อย.เผยพบเนื้อหมูที่วางขายตามท้องตลาดมีสารบอแรกซ์เจือปน เตือนผู้บริโภคระวังอันตราย อย่าซื้อเนื้อหมูที่มีลักษณะผิดปกติจากธรรมชาติ วอนผู้ประกอบการเห็นแก่ความปลอดภัยของผู้บริโภค อีกทั้งการใส่บอแรกซ์ในอาหารเป็นเรื่องผิดกฎหมายฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ เมื่อตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมายทันที
จากการเปิดเผยของ นพ.มงคล ณ สงขลา เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาว่าในขณะนี้ อย.ได้ติดตามตรวจสอบเนื้อหมูสดที่วางจำหน่ายในตลาดสดตามที่มีผู้ร้องเรียน ซึ่งสงสัยว่าอาจมีการใส่สารอันตราย เนื่องจากหมูมีลักษณะผิดปกติ จึงได้ส่งวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลปรากฎว่า พบสารบอแรกซ์เจือปนอยู่ในเนื้อหมูสด สารบอแรกซ์นี้ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก ได้แก่ น้ำประสานทอง ผงกรอบ หรือเม่งแซ มีลักษณะเป็นผลึก ไม่มีกลิ่น โดยทั่วไปจะพบในลักษณะเป็นเม็ดหรือผงสีขาว ละลายในน้ำได้อย่างช้า ๆ ปกติแล้วจะใช้ในอุตสาหกรรมทำแก้ว การนำบอแรกซ์ใส่ในอาหาร จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายได้ โดยหากร่างกายได้รับบอแรกซ์ในปริมาณสูง จะทำให้เกิดอาการพิษแบบเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน การทำงานของไตถูกทำลาย เกิดอาการช็อก และเสียชีวิต ส่วนผู้ที่ได้รับบอแรกซ์ครั้งละไม่มาก แต่บ่อยครั้งหรือเป็นประจำ จะเกิดการสะสมบอแรกซ์ในร่างกาย เกิดอาหารพิษแบบเรื้อรัง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การใช้สารบอแรกซ์ในอาหารเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง ขอให้ผู้ผลิตหรือผู้ขายอาหาร เห็นแก่ความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่าใส่สารบอแรกซ์ในอาหารเป็นอันขาด มิฉะนั้น จะถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยมีโทษฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้ทาง อย.ก็ได้มีการตรวจสอบอาหารจากตามท้องตลาดอย่างสม่ำเสมอแล้ว ในส่วนของผู้บริโภคสามารถระมัดระวังในการซื้อเนื้อหมูสดได้ โดยไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีลักษณะผิดปกติจากธรรมชาติ เช่น เนื้อหมูจะแข็ง กดแล้วเด้ง หรือผิวของเนื้อจะมีลักษณะเป็นเงาเคลือบคล้ายกระจก หากพบหรือสงสัยว่ามีการใส่สารบอแรกซ์ในอาหาร ขอได้โปรดแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โทร.590-7354-5 หรือทางตู้ ปณ.52 ปทจ.นนทบุรี 11000 สำหรับในต่างจังหวัดสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ เพื่อจะได้มีการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ