เปิดตัววิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชูหลักสูตรศิลปศาสตร์เพื่อธุรกิจ พัฒนาบัณฑิตสู่เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21

ข่าวทั่วไป Tuesday November 24, 2015 17:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปูเส้นทางความรู้สู่อนาคต มุ่งพัฒนาคุณภาพบัณฑิตใหม่ในยุคประชาคมเศรษฐกิจจีน - อาเซียน เปิดตัววิทยาลัยนานาชาติจีน โดยพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตร่วมกับมหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง ประเทศจีน ขึ้น 2 หลักสูตร คือ ภาษาจีนเพื่อการท่องเที่ยวและการโรงแรม และภาษาจีนเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศ ก่อนขยายหลักสูตรครอบคลุมเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่ ขณะเดียวกันยังเดินหน้าสร้างพันธมิตรด้านความรู้ โดยจับมือร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลจีน ตั้งศูนย์วิจัยและศูนย์ฝึกอบรม 3 ศูนย์ในไทยเพื่อใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้บูรณาการทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติอย่างเจาะลึก เตรียมพร้อมผลิตบัณฑิตเป็นผู้ประกอบการบุคลิกใหม่ตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจในเวทีการค้าโลก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดพิธีเปิดวิทยาลัยนานาชาติจีน ในวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2558 ณ Diamond Hall อาคาร BU Diamond โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ หนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายหมิง ต้าจุน ผู้อำนวยการสำนักข่าวซินหัวประจำประเทศไทย และนายเฉิน อัน ผู้อำนวยการ ไชน่า เรดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประจำภาคพื้นเอเชีย) ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมกับอาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีแผนงานพัฒนาหลักสูตรสำหรับผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีบุคลิกและความสามารถที่ชัดเจน มีความเป็นสากลและมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความเชี่ยวชาญภาษาจีน เพื่อสามารถติดต่อสื่อสารและทำธุรกิจกับคู่ค้าในประเทศที่ใช้ภาษาจีนได้ ซึ่งสอดรับกับแนวคิด "One Belt, One Road" Initiative หรือเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ของประเทศจีน ซึ่งเป็นแนวคิดในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของเอเชีย- แอฟริกาเหนือ และยุโรป ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่มีประชากรรวมกันประมาณ 4,400 ล้านคน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 21 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 63 และร้อยละ 29 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก นัยสำคัญของแนวคิดนี้แสดงให้เห็นทิศทางของโลกธุรกิจใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ว่า เครื่องมือสำคัญในการสื่อสารเพื่อธุรกิจจะเป็นเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมจากเอเชียที่นำโดยประเทศจีน ภาษาและวัฒนธรรมจีนจึงถูกนำมาเชื่อมโยงและผสมผสานพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสร้างบุคลากรสำหรับธุรกิจยุคใหม่ และด้วยความพร้อมทั้งในด้านวิชาการ และอุปกรณ์ที่ทันสมัยของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงทำให้เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญในเชิงกลยุทธ์กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ของจีน สามารถยกระดับความสัมพันธ์พัฒนาความรู้เพื่อผลประโยชน์ของประชากรทั้งสองประเทศได้ การเปิดวิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับมหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง ( Guangdong University of Foreign Studies) ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยในช่วงแรกวิทยาลัยนานาชาติจีนจะเปิดสอน 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาภาษาจีนเพื่อการ ท่องเที่ยวและการโรงแรม และหลักสูตรปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาภาษาจีนเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสองหลักสูตรนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนทั้งหมด 4 ปีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือเลือกไปเรียนที่ประเทศจีนเป็นเวลา 1 ปี (หลักสูตร 3 +1) หรือไปเรียนที่ประเทศจีน 2 ปี (หลักสูตร 2 +2) สำหรับนักศึกษาที่เรียนแบบ 2 + 2 (เรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 2 ปี และที่จีนอีก 2 ปี) นี้ จะได้รับปริญญาตรี 2 ใบในสาขาที่แตกต่างกัน คือปริญญาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 1 ใบ และจากมหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง อีก 1 ใบ เป็นการเพิ่มโอกาสในการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี ภายใต้แผนดำเนินงานเพื่อพัฒนาความรู้บัณฑิตใหม่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาลจีนในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้บูรณาการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ทันสมัยจำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ 1) ศูนย์วิจัยสื่อนานาชาติไทย-จีน (Chinese-Thai International Media Research Center) จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีนโยบายในการสร้างผลงานวิจัยด้านนิเทศศาสตร์และด้านการสื่อสารมวลชน ระหว่างไทยและจีน 2) ศูนย์ฝึกอบรมสำนักข่าวซินหัว (Xinhua Agency Bangkok Bureau – BUCIC Internship &Training Center) โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพและสำนักข่าวซินหัวประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสำนักข่าวทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นสื่อที่ใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศจีน มีสาขามากกว่า 170 แห่งทั่วโลก 3) ศูนย์ฝึกอบรม CRI (China Radio International Asia Headquarters – BUCIC Training Center) โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และไชน่า เรดิโอ อินเตอร์เนชันแนล (ประจำภาคพื้นเอเชีย) ซึ่งเป็นองค์การสื่อสารมวลชนของรัฐบาลจีนที่ดำเนินการด้านวิทยุกระจายเสียงและเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูล มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในอันดับต้นๆ ในประเทศจีน อาจารย์เพชรกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาทุนและจัดการฝึกอบรมให้แก่นักศึกษาที่เรียนในวิทยาลัยนานาชาติจีน เป็นการติดอาวุธความรู้ให้นักศึกษาสามารถแสดงความสามารถของตัวเองผ่านโครงการฝึกงานต่างๆ ของศูนย์ ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามีโอกาสในการเข้าทำงานในองค์กรจีนหรือสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองก่อนที่จะเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่บัณฑิตของวิทยาลัยนานาชาติจีน ในการเลือกสายการทำงานที่ตรงกับเป้าหมายของตนเองเมื่อสำเร็จการศึกษา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ