Early Retire หรือรอ 60... แบบไหนเสียภาษีน้อยกว่ากัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 26, 2015 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ชมฉวีวรรณ กระแสเรื่อง Early Retire ช่วงนี้กำลังมาแรงทีเดียว เพราะเมื่อ Early Retire ไปแล้ว เราจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีอิสระ ทำสิ่งต่างๆ ที่อยากทำได้ สำหรับพนักงานบริษัท เมื่อตัดสินใจ Early Retire ก็จะได้รับเงินก้อนมาจากบริษัทและเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเงินก้อนนี้อาจสูงถึงหลักล้านเลยทีเดียวนะ แต่ก่อนที่จะคิดวางแผนว่า จะนำเงินก้อนนี้ไปทำอะไรดี อย่าลืมว่า เงินก้อนนี้ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีด้วย ส่วนจะต้องเสียภาษีมากน้อยแค่ไหน และต่างจากเคสเกษียณแบบปกติหรือไม่ K-Expert มีคำตอบมาฝากดังนี้ เพื่อให้เห็นภาพกันแบบง่ายๆ จะขอยกตัวอย่างหากเป็นพนักงานบริษัทอายุ 45 ปี เงินเดือน 50,000 บาท อายุงาน 20 ปี ตัดสินใจ Early Retire ทำให้ได้รับเงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวจากบริษัท 1,200,000 บาท และเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 600,000 บาท ในการคำนวณภาระภาษีซึ่งต้องใช้ใบแนบในการคำนวณ ก่อนอื่นเราต้องจำแนกออกมาก่อนว่า เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ละส่วนเป็นเงินเท่าไร เพราะเงินก้อนนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ เงินสะสมของเรา ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบของนายจ้าง ผลประโยชน์ของเงินสมทบของนายจ้าง โดยเงินส่วนที่ 2, 3 และ 4 เราต้องเสียภาษีหาก Early Retire ก่อนอายุ 55 ปี สำหรับตัวอย่างนี้ หากเงินส่วนที่ 2, 3 และ 4 คิดเป็นเงิน 500,000 บาท ดังนั้น ยอดรายได้ที่จะนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีในใบแนบเท่ากับ 1,200,000 + 500,000 = 1,700,000 บาท และเมื่อคำนวณภาษีตามฐานภาษีในใบแนบแล้ว จะคิดเป็นเงิน 98,500 บาท แล้วถ้าลองเปรียบเทียบกับพนักงานที่เกษียณอายุแบบปกติตอนอายุ 60 ปี เงินเดือน 50,000 บาท และมีอายุงาน 20 ปีเท่ากัน เมื่อเกษียณอายุได้รับเงินชดเชยจากบริษัท 500,000 บาท เงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน 700,000 บาท และเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 600,000 บาท ดูเผินๆ จากทั้งสองเคส จะเห็นว่าได้เงินก้อนจากบริษัทออกมาเท่ากันคือ 1,800,000 บาท แต่ภาษีที่จะต้องเสียเมื่อเกษียณอายุแบบปกตินั้นจะน้อยกว่าเมื่อ Early Retire ค่ะ เพราะเมื่อเกษียณแบบปกติ เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี จากเงื่อนไขว่า ถ้าเรานำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป จะไม่ต้องนำเงินก้อนที่ได้รับมาเสียภาษี ดังนั้นเงินส่วนที่จะนำมาเสียภาษีเมื่อเราเกษียณอายุคือ เงินชดเชยและเงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน โดยสามารถนำมาคำนวณในใบแนบได้ จากตัวอย่างนี้จะเสียภาษี 39,500 บาท จากตัวอย่างที่แสดงให้ดูข้างต้นจะเห็นว่า แม้ว่าเราจะได้เงินก้อนใหญ่เมื่อ Early Retire แต่ก็จะเสียภาษีเป็นเงินค่อนข้างสูง จึงอยากให้เพื่อนๆ ที่คิดจะ Early Retire ลองคำนวณดูก่อนว่า ภาษีที่เราจะต้องเจอะเจอเมื่อ Early Retire เป็นเงินมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยิ่งมาก ก็จะยิ่งเสียภาษีมากขึ้น จะได้พอคำนวณได้ว่า เงินที่ได้รับเมื่อตัดสินใจลาออกเป็นเงินเท่าไร คุ้มค่ากับการตัดสินใจ Early Retire หรือไม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ