แถลงการณ์ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การตีกลับร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฯ ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่แท้จริง

ข่าวทั่วไป Wednesday December 23, 2015 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้วิพากษ์มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 (1) ที่เห็นชอบส่งร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฯ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับไปพิจารณาปรับปรุงกฎหมายว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบขอไปที พร้อมเสนอให้รัฐบาลยืนยันมติ ครม. เดิมที่ห้ามการปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิดที่จะนำไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์ของพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย รวมถึงพิจารณายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องอาหารจีเอ็มโอในทันที (2) ทั้งนี้ เพื่อรับประกันสิทธิในการกำหนดวิถีการทำเกษตรกรรม การบริโภค การผลิตและการจำหน่ายอาหารและสิทธิในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรม เมล็ดพันธุ์ การพัฒนาชุมชน และอนาคตทางเศรษฐกิจของชุมชนในประเทศไทย การส่งร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฯ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับไปพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ของภาคประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม ภาคการเกษตร ภาคธุรกิจและอาหารกว่า 125 องค์กร เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพพร้อมกันกว่า 46 จังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา รวมถึงการแสดงพลังบนสื่อสังคมและการร่วมลงชื่อคัดค้านออนไลน์ นายวัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า "ตราบใดที่การร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพยังตกอยู่ในมือของกลุ่มผลประโยชน์เพียงหยิบมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครอบงำของบริษัทเมล็ดพันธุ์และบริษัทข้ามชาติ ร่าง พ.ร.บ.ที่จะมีการทบทวนใหม่ก็ไร้ประโยชน์และไม่จำเป็น กรีนพีซยืนยันตามข้อเรียกร้องร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน ผู้ประกอบการภาคเกษตรและอาหารที่ให้แต่งตั้งตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากจีเอ็มโอ ตัวแทนจากเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเกษตรอินทรีย์ และนักวิชาการด้านกฎหมายที่ได้ติดตามประเด็นความปลอดภัยทางชีวภาพ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายอย่างน้อยกึ่งหนึ่งในคณะกรรมการปรับปรุงร่างฯ โดยนำหลักการป้องกันไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดเชยความเสียหายมาเป็นหลักการสำคัญในการปรับปรุงร่างกฎหมาย และให้นำความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาที่บกพร่องให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น" ในวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลสูงของฟิลิปปินส์มีคำสั่งห้ามการทดลองภาคสนามมะเขือยาวสีม่วงจีเอ็มโออย่างถาวร และให้ยุติการอนุมัติแผนงานต่างๆ ในการใช้ นำเข้า จำหน่าย และ แพร่กระจายของพืชจีเอ็มโอรวมทั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอทุกชนิดเป็นการชั่วคราว (3)"ผู้นำรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายต้องมีความกล้าหาญและเจตจำนงทางการเมืองที่ในการปกป้องอธิปไตยทางอาหารและสิทธิขั้นพื้นฐานในการจัดการทรัพยากรทางชีวภาพของชุมชน รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะนี้ ฟิลิปปินส์ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และหลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายปลอดจีเอ็มโอที่ชัดเจน (4)" นายวัชรพล กล่าวเสริม กรีนพีซ ทำงานรณรงค์เพื่อเกษตรกรรมเชิงนิเวศซึ่งให้ความสำคัญกับอธิปไตยทางอาหาร ผลประโยชน์ต่อเกษตรกรและชุมชนในชนบท การเลือกปลูกพืชอย่างชาญฉลาด ความหลากหลายทางชีวภาพ ความยั่งยืนของคุณภาพดินและน้ำ การกำจัดศัตรูพืชด้วยกลไกทางนิเวศ และระบบอาหารที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (5) เราเชื่อมั่นว่านี่คือทางออกของปัญหาเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ หมายเหตุ (1) http://www.thaigov.go.th/index.php/th/government-th1/item/98407-98407.html (2) ฉลากจีเอ็มโอในประเทศไทย มีมานานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 ครอบคลุมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีจีเอ็มโอ เพียง 2 ชนิดคือถั่วเหลืองและข้าวโพดใน 22 รายการ และยอมรับให้มีการตกค้างของวัตถุดิบที่มีจีเอ็มโอ ร้อยละ 5 เนื่องจากในสมัยนั้นห้องทดลองของประเทศไทย สามารถตรวจสอบการตกค้างจีเอ็มโอได้เพียงร้อยละ 3 ทำให้เรายอมรับการตกค้างมากถึงร้อยละ 5 แต่ปัจจุบันอาหารและสินค้าที่มีในจีเอ็มโอ มีมากขึ้น นอกเหนือจากถั่วเหลืองและข้าวโพดแล้ว ยังมีมะละกอ มันฝรั่ง และปลาแซลมอน http://www.consumerthai.org/2015/index.php/news/ffc-news/530-ถึงเวลาปรับปรุงฉลากจีเอ็มโอ. html (3) http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/Philippines-Supreme-Court-bans-development-of-genetically-engineered-products/ (4) http://www.gmo-free-regions.org/fileadmin/files/gmo-free-regions/full_list/List_GMO-free_regions_Europe_update_September_2010.pdf (5) http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/Food-and-Farming-Vision/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ