ปี59 บังคับใช้กฎหมายอาชีพเสี่ยง ช่างไฟฟ้าฯต้องมีหนังสือรับรอง

ข่าวทั่วไป Tuesday February 2, 2016 09:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--Notable Bangkok กระทรวงแรงงานเผยปี๒๕๕๙ บังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้ประกอบอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ เพื่อคุ้มครองป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ นำร่องที่ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร หากไม่ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สอบตกแน่นอน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งเพิ่มศูนย์ทดสอบทั่วประเทศอีก ๑๕๔ แห่ง มล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานเปิดเผยความพร้อมของกระบวนการออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ให้กับช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ตามประกาศของกระทรวงแรงงาน ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฉบับที่ ๒ ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ๒๖ ตุลาคม ๕๙ ซึ่งต้องมีการทดสอบและวัดระดับความรู้ความสามารถของช่างผู้ปฏิบัติงาน เพราะลักษณะงานที่ปฏิบัติมีผลต่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของสาธารณะโดยรวม จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมและทดสอบวัดระดับฝีมือของช่างผู้ปฏิบัติงานว่า มีความรู้ความสามารถครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อลดความผิดพลาดในการทำงาน "อาชีพช่างไฟฟ้าในอาคารเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง หากมีความผิดพลาดในชิ้นงานก็มีโอกาสส่งผลกระทบต่อชีวิตคนและทรัพย์สาธารณะในวงกว้าง เช่นหากเดินสายไฟหรือวางระบบผิดพลาด อาจทำให้ไฟช๊อตไฟดูดคนเสียชีวิต หรือไฟฟ้าลัดวงจรเกิดไฟไหม้บ้านไหม้อาคารอาจลุกลามไปหลายบ้านหรือชุมชน ดังนั้นหากเข้มงวดตรวจสอบช่างผู้ปฏิบัติงานให้มั่นใจว่ามีความรู้มีฝีมือได้มาตรฐาน ก็จะช่วยลดการสูญเสียได้อย่างมากมาย" ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวและว่าตนเองได้กำชับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไปเร่งดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวัดผลและรับรองความสามารถช่างเหล่านี้ ให้พร้อม เนื่องจากผู้ที่จะเข้ารับการประเมินความรู้เพื่ออกหนังสือรับรองนี้ ต้องผ่านการทดสอบและได้รับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าในอาคาร ถึงจะมีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินความสามารถ ทางด้านนายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยืนยันความพร้อมด้านสถานที่และบุคคลากรที่จะทดสอบและออกหนังสือรับรองให้แก่ช่างไฟฟ้าภายในอาคารทั่วประเทศ ว่าได้สั่งการให้ศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้ประสานงานกับกลุ่มองค์การวิชาชาชีพด้านไฟฟ้าภายในอาคาร ทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าช่างเหล่านี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร รวมทั้งผลดีของกฎหมายนี้ต่อช่างและต่อประชาชน และขั้นตอนการทดสอบเพื่อออกหนังสือรับรอง ซึ่งเกณฑ์การให้คะแนนในการออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถในการทำงานนั้น พิจารณาจากผลการผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ๕๐ คะแนน ประสบการใบรับรองการทำงาน/การฝึกอบรม ๒๕ คะแนน และการสอบวัดผลข้อเขียน/สัมภาษณ์/ปฏิบัติเพิ่มเติม ๒๕ คะแนน ดังนั้นผู้ที่ไม่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ก็จะไม่ผ่านการสอบขอใบอนุญาตดังกล่าว " ขอเชิญชวนให้ช่างไฟฟ้าในอาคารทุกคน ไปติดต่อขอทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ที่ศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือในศูนย์ทดสอบของส่วนราชการ สถานศึกษา และองค์การวิชาชีพ อีก ๓๒ แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าประเมินขอรับใบอนุญาตหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ เพื่อใช้ประกอบอาชีพเสี่ยง ที่จะบังคับใช้นี้แต่เนิ่นๆ" นายกรีฑากล่าวและว่าทั้งนี้ตนได้มีข้อสั่งการให้แต่ละจังหวัดสร้างพันธมิตรจากสมาคมหรือกลุ่มวิชาชีพหรือสถานศึกษาให้ขออนุญาตตั้งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพิ่มอีกจังหวัดละ ๒ แห่งทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น ๑๕๔ แห่ง เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว ด้านความเห็นของ นายอนันต์ กิตติวิทยากุล นายกสมาคมช่างเหมาและเครื่องกลไทย ซึ่งบริษัทสมาชิกมีช่างไฟฟ้าในอาคารเป็นจำนวนมาก ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า สมาชิกของสมาคมเห็นด้วยและสนับสนุนให้มีกฎหมายลักษณะนี้ออกมา เพราะนอกจากเป็นผลดีแก่ผู้บริโภคและสาธารณะแล้ว ในฝั่งของวงการช่างเองก็มีผลดีอย่างมาก คือช่วยคัดกรองคนที่ไม่มีฝีมือและความรู้ให้ออกไปจากวงการ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีใครสามารถเข้าไปจัดการได้ การมีกฎหมายนี้จึงช่วยให้ภาพลักษณ์โดยรวมของช่างไฟฟ้าน่าเชื่อถือมากขึ้น สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าได้ว่าจ้างคนที่มีฝีมือได้มาตรฐานจริงๆไปทำงานให้ คนจ้างก็อุ่นใจ นายกสมาคมฯกล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ