กระทรวงเกษตรฯ เผยความร่วมมือสภาไตรภาคียาง เล็งลดปริมาณการส่งออก สนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศ เชื่อมั่นสามารถผลักดันราคายางให้สูงขึ้น ส่วนมาตรการรับซื้อยางแสนตัน ลดขั้นตอนรับซื้อ เร่งจ่ายเงินช่วยเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Friday February 5, 2016 16:32 —ThaiPR.net

Bangkok--5 Feb--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความร่วมมือไตรภาคียางพารา ว่า จากมติที่ประชุมระดับรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ณ กรุงจาการณ์ต้า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่ประชุมมีมติให้สภาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศ (ITRC) และบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo) พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการตามมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางภายใต้โครงการ (Agreed Export Tonnage Scheme : AETS) และต่อมาได้มีการหารือร่วมกันระหว่างบริษัท ร่วมทุนฯ (IRCo) และสภาความร่วมมือด้านยางระหว่างประเทศ (ITRC) อีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 และล่าสุดเมื่อ 28 มกราคม 2559 ผลจากการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของประเทศอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรมขั้นปฐมและสินค้าโภคภัณฑ์ของประเทศมาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือของสภาความร่วมมือไตรภาคียางพารา มีความเห็นว่าราคายางธรรมชาติที่ลดลงและส่งผลต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 3 ประเทศ รัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้ตกลงที่จะลดปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติ เป็นจำนวน 615,000 ตัน โดยแบ่งตามปริมาณสัดส่วนการผลิตจาก 3 ปีล่าสุด คือ ประเทศไทย 324,005 ตัน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย 238,736 ตัน และประเทศมาเลเซีย 52,259 ตัน ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการลดปริมาณอุปทานยางธรรมชาติในตลาดโลกลงไปอีก ทั้ง 3 ประเทศ ตกลงที่จะใช้มาตรการบริโภคยางพาราในประเทศให้มากขึ้น ทั้งการนำมาใช้เป็นส่วนผสมของถนนยางพารา แผ่นรองรางรถไฟ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เหมาะสมในแต่ละประเทศ ทั้งนี้รัฐมนตรีของทั้ง 3 ประเทศ มีความเชื่อมั่นว่า การใช้มาตรการลดปริมาณการส่งออก และเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นนี้ จะช่วยผลักดันและแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ให้กลับสู่ระดับราคาที่ยุติธรรม เหมาะสม แก่เกษตรกรรวมทั้ง ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยที่การดำเนินการครั้งนี้ จะมีการติดตามและประเมินผลจาก คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาอย่างใกล้ชิด "ส่วนความคืบหน้ามาตรการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรรายย่อย 100,000 ตัน นั้น รับซื้อไปแล้วจำนวน 750 ตัน ซึ่งสาเหตุที่เกษตรกรยังนำยางมาขายไม่มากนัก เนื่องจากเป็นเกษตรกรรายย่อยที่นำยางมาขายในปริมาณไม่มาก ไม่สะดวกในการเดินทางมายังศูนย์ฯรับซื้อ อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ โดยการยางแห่งประเทศไทย ได้ปรับขั้นตอนการรับซื้อให้ง่ายขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรที่นำยางมาขาย อีกทั้ง พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับเรื่องการเบิกจ่ายเงินให้ถึงมือเกษตรกรอย่างรวดเร็ว จาก 2 วัน เป็น 1 วัน อีกด้วย" นายสุรพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ