สศก. ร่วมเดินหน้าผลักดันความตกลง ไทย-ปากีสถาน เผย ตัวเลขมูลค่าสินค้าเกษตรระหว่างกัน

ข่าวทั่วไป Monday May 9, 2016 17:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย - ปากีสถาน หรือ PATHFTA สู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าและสถิติการค้าระหว่างกัน พร้อมเตรียมเจรจาร่วมอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ ด้านมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ในปีช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไทยและปากีสถานมีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 3,370 ล้านบาทต่อปี นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้เข้าร่วมประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน (PATHFTA) ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างรอบการเจรจา ผ่านระบบ VDO Conference เมื่อวันที่ 21มีนาคม 2559 โดย ผู้แทน สศก. พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้าร่วม ซึ่งการประชุมเจรจาดังกล่าว ประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า และคณะทำงาน 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) การค้าสินค้า (2) การเยียวยาทางการค้า (3) กระบวนการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และ (4) ประเด็นด้านกฎหมายและสถาบัน สำหรับความคืบหน้าในการประชุมระหว่างรอบผ่านระบบ VDO Conference ทั้ง 2 ฝ่ายได้ติดตามการพิจารณาประเด็นคงค้าง ได้แก่ การเปิดตลาดการค้าสินค้า ร่างข้อบทความตกลงฯ เพื่อเตรียมความพร้อมการประชุมเจรจาความตกลง PATHFTA ครั้งที่ 3 ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ไทยและปากีสถาน ได้มีการประชุมเจรจาความตกลง PATHFTA ระหว่างกันไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อเดือนกันยายน 2558 และเดือนมกราคม 2559 ตามลำดับ โดยมีเป้าหมายดำเนินการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 โดยฝ่ายไทยและปากีสถานได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าและสถิติการค้าระหว่างกัน และอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างข้อบทภายใต้ความตกลง PATHFTA รวมถึงรูปแบบการเปิดตลาดสินค้า อนึ่ง ในส่วนของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ในปีช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2556 - 2558) ไทยและปากีสถานมีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 3,370 ล้านบาทต่อปี (อัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14.92 ต่อปี) โดยไทยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 1,632 ล้านบาท และมีมูลค่านำเข้าเฉลี่ย 1,738 ล้านบาท สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ ได้แก่ เมล็ดพืชผัก ข้าวโพดสำหรับทำพันธุ์ สับปะรดปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่ง ในขณะที่สินค้าเกษตรนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำแช่เย็น/แช่แข็ง เครื่องดื่ม และกากน้ำมัน (ออยล์เค้ก)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ