ก.ไอซีที หนุน Tech Startup ดึงพันธมิตรลงนาม MOU ในงาน Digital Thailand 2016

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday May 31, 2016 15:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--ฟร้อนท์เพจ รมว.ไอซีที เร่งผลักดัน Tech Startup เตรียมลงนาม MOU ร่วมกับพันธมิตรทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน เครือข่ายภาคเอกชน พร้อมตั้งคณะทำงานจากตัวแทนทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนโดยใช้ศักยภาพ ความถนัดและเชี่ยวชาญของแต่ละส่วนสนับสนุนการทำงานในทุกขั้นตอนจนสามารถสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีได้เดินหน้าผลักดัน Tech Startup ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่ม Technology Startup หรือ Tech Startup ภายใต้แนวคิด Incubation Center ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ การแพทย์ หุ่นยนต์ การเงิน การศึกษา การออกแบบ และการท่องเที่ยว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรหลายฝ่ายร่วมผลักดัน ทั้งสถาบันศึกษา สถาบันการเงิน และภาคเอกชน โดยใช้สถาบันการศึกษาในการบ่มเพาะเครือข่ายตามความถนัดและความเชี่ยวชาญ ซึ่งสถาบันการศึกษาที่เป็นแนวร่วม ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขณะนี้ได้เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง (Memorandum Of Understanding: MOU) ความร่วมมือการเป็นพันธมิตร Digital Startup Alliance หรือ DSA โดยกระทรวงไอซีทีและหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สถาบันทางการเงินและเงินทุน ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ภาคเอกชนได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2559 ภายในงาน Digital Thailand 2016 ที่กระทรวงไอซีทีเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม 2559 นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ "การผลักดัน Tech Startup กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ดังนี้ ระยะที่ 1 นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพกลุ่มธุรกิจ Digital Startup (Conception) เริ่มจากการตั้งคณะทำงานโดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย การติดตามความคืบหน้าและระดมความร่วมมือจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุน ภาคการศึกษาผ่านทางมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ระยะที่ 2 การส่งเสริมแนวความคิด (Ideation) โดยภาคการศึกษาจะจัดฝึกอบรม 2 หลักสูตร แบ่งเป็น หลักสูตรการฝึกอบรมระดับพื้นฐาน (Fundamental Training Course) และหลักสูตรระดับกลาง (Intermediate Training Course) ภาคอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนในการจัดอบรมสัมมนา ส่งเสริมความรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (Training Seminars) ระยะที่ 3 การบ่มเพาะกลุ่มธุรกิจ Digital Startup (Incubation) ภาคการศึกษาจะให้การสนับสนุนด้านการปฏิบัติการเพื่อต่อยอดความคิด การส่งเสริม การปฏิบัติการด้วยห้องปฏิบัติการ (Lab Use) การส่งเสริมด้วยผู้ฝึกสอนที่มีความรู้ ภาคอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและวิธีการ อุตสาหกรรมเชิงลึก การให้ทุนอุดหนุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การให้สิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษี การสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D Expense) ระยะที่ 4 การเร่งรัดธุรกิจสู่ตลาดสากล ทั้งการเข้าถึงผู้รับบริการในตลาด โดยมีการจัดการแข่งขันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ระยะที่ 5 มาตรการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าการลงทุน (Valuation) แนวทางการเพิ่มการไหลเวียนของการลงทุน ได้แก่ การเสนอขายหุ้นให้แก่นักลงทุนก่อนการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering: IPO) การเปิดการลงทุนตามมูลค่าการลงทุนที่กำหนดไว้" ดร.อุตตม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ