รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2559

ข่าวทั่วไป Tuesday May 31, 2016 18:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง "เศรษฐกิจภูมิภาคฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป นำโดย กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ส่วนการบริโภคสินค้าและบริการของภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น แม้จะมีการหดตัวของการบริโภคสินค้าคงทน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ที่ปรึกษาด้านนโยบายยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน ปี 2559 "เศรษฐกิจภูมิภาคฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป นำโดย กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ส่วนการบริโภคสินค้าและบริการของภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น แม้จะมีการหดตัวของการบริโภคสินค้าคงทน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้ 1. ภาคเหนือ ในด้านอุปสงค์ พบว่าการบริโภคสินค้าและบริการชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยดูจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายขยายตัวในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี ในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่หดร้อยละ -5.1 และ -0.4 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ 63.0 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ในขณะที่การลงทุนยังหดตัวต่อเนื่องตามสถานการณ์การลงทุนในภาพรวม สะท้อนได้จากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่และยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -12.2 และ -6.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวสูงที่ร้อยละ 87.7 ต่อปี ในด้านรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.1 ต่อปี ในด้านอุปทาน พบว่าการท่องเที่ยวขยายตัวดีทั้งจำนวนและรายได้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 2.8 ล้านคนครั้ง ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 10.2 ต่อปี ส่วนรายได้จากการเยี่ยมเยือนอยู่ที่ 11,816 ล้านบาท ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 9.6 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังมีสัญญาณชะลอตัว โดยดูจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 77.1 ในด้านเสถียรภาพภายใน พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟัอทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี ขณะที่จำนวนการว่างงานในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 62,912 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน 2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในด้านอุปสงค์ พบว่าการบริโภคสินค้าและบริการชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยดูจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายขยายตัวในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี ในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่หดร้อยละ -1.8 และ -1.7 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ 63.2 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ในขณะที่การลงทุนยังหดตัวต่อเนื่องตามสถานการณ์การลงทุนในภาพรวม สะท้อนได้จากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ -16.1 -6.9 และ -60.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ร้อยละ 6.8 ต่อปี ในด้านอุปทาน พบว่าการท่องเที่ยวหดตัวทั้งจำนวนและรายได้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 3.0 ล้านคนครั้ง หดตัวร้อยละ -10.2 ต่อปี ส่วนรายได้จากการเยี่ยมเยือนอยู่ที่ 5,153 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -8.4 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังมีสัญญาณชะลอตัว โดยดูจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 75.3 ในด้านเสถียรภาพภายใน พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟัอทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ขณะที่จำนวนการว่างงานในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 85,128 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงาน 3. ภาคกลาง ในด้านอุปสงค์ พบว่าการบริโภคสินค้าและบริการชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยดูจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายขยายตัวในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี ส่วนการบริโภคสินค้าคงทนชะลอลง โดยดูจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 1.2 และ 16.3 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ 59.1 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มดีขึ้น โดยดูจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี เม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 15.3 ต่อปี การลงทุนขนาดใหญ่หลายโรงงานอยู่ในจังหวัดสระบุรี เช่น โรงงานผลิตเซลแสงอาทิตย์ ในขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี ในด้านอุปทาน พบว่าการท่องเที่ยวหดตัวทั้งจำนวนและรายได้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 1.2 ล้านคนครั้ง หดตัวร้อยละ -34.9 ต่อปี ส่วนรายได้จากการเยี่ยมเยือนอยู่ที่ 2,102 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -47.5 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังมีสัญญาณชะลอตัว โดยดูจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 89.7 ในด้านเสถียรภาพภายใน พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยอัตราเงินเฟัอทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ขณะที่จำนวนการว่างงานในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 22,173 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงาน สูงกว่าอัตราการว่างงานของประเทศ 4. ภาคตะวันออก ในด้านอุปสงค์ พบว่าการบริโภคสินค้าและบริการขยายตัวสูง โดยดูจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 14.9 ต่อปี เช่นเดียวกันกับยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี แต่ยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ 63.0 ในขณะที่การลงทุนยังหดตัวต่อเนื่องตามสถานการณ์การลงทุนในภาพรวม สะท้อนได้จาก ยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรม ที่หดตัวร้อยละ -19.7 -29.5 และ -53.0 ต่อปี ตามลำดับ ในด้านการลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 24.4 ต่อปี ในด้านอุปทาน พบว่าการท่องเที่ยวขยายตัวดีทั้งจำนวนและรายได้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 3.6 ล้านคนครั้ง ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 33.3 ต่อปี ส่วนรายได้จากการเยี่ยมเยือนอยู่ที่ 24,085 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 69.9 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังมีสัญญาณชะลอตัว โดยดูจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 91.5 ในด้านเสถียรภาพภายใน พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟัอทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี ขณะที่จำนวนการว่างงานในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 34,651 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน 5. ภาคตะวันตก ในด้านอุปสงค์ พบว่าการบริโภคสินค้าและบริการขยายตัวได้สูง โดยดูจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายขยายตัวถึงร้อยละ 45.2 ต่อปี ส่วนการบริโภคสินค้าคงทนหดตัวลง โดยดูจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่หดตัวร้อยละ -1.6 และ -12.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ 59.1 ในขณะที่การลงทุนยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน โดยดูจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่และยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดร้อยละ -11.8 และ -25.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวสูงถึงร้อยละ 457.2 ต่อปี ส่วนรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคหดตัวที่ร้อยละ -12.5 ต่อปี ในด้านอุปทาน พบว่าการท่องเที่ยวหดตัวทั้งจำนวนและรายได้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 2.1 ล้านคนครั้ง หดตัวร้อยละ -15.4 ต่อปี ส่วนรายได้จากการเยี่ยมเยือนอยู่ที่ 5,996 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -8.6 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังมีสัญญาณชะลอตัว โดยดูจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 89.7 ในด้านเสถียรภาพภายใน พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟัอทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี ขณะที่จำนวนการว่างงานในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 15,284 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงาน 6. ภาคใต้ ในด้านอุปสงค์ พบว่าการบริโภคสินค้าและบริการขยายตัวดี โดยดูจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 13.4 ต่อปี ส่วนยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และยอดรถจักรยานยนต์ จดทะเบียนใหม่ขยายตัวได้ร้อยละ 8.5 และ 5.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ 65.0 ในขณะที่การลงทุนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น สะท้อนได้จากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่และยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 14.1 และ 7.0 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -76.5 ต่อปี ในด้านรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 19.8 ต่อปี ในด้านอุปทาน พบว่าการท่องเที่ยวขยายตัวทั้งจำนวนและรายได้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 3.5 ล้านคนครั้ง ขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อปี ส่วนรายได้จากการเยี่ยมเยือนอยู่ที่ 39,169 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังมีสัญญาณชะลอตัว โดยดูจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 84.2 ในด้านเสถียรภาพภายใน พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยอัตราเงินเฟัอทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี ขณะที่จำนวนการว่างงานในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 70,716 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงาน สูงกว่าอัตราการว่างงานของประเทศ 7. กทม. และปริมณฑล ในด้านอุปสงค์ พบว่าการบริโภคสินค้าและบริการเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยดูจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 4.1 ต่อปี เช่นเดียวกันกับยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.0 ต่อปี แต่ยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 9.4 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ 59 ในขณะที่การลงทุนยังหดตัวต่อเนื่องตามสถานการณ์การลงทุนในภาพรวม สะท้อนได้จากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ -5.4 -16.8 และ -30.0 ต่อปี ตามลำดับ ในด้านรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.1 ต่อปี ในด้านอุปทาน พบว่าการท่องเที่ยวขยายตัวดีทั้งจำนวนและรายได้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 3.6 ล้านคนครั้ง ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี ส่วนรายได้จากการเยี่ยมเยือนอยู่ที่ 40,257 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังมีสัญญาณชะลอตัว โดยดูจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 89.7 ในด้านเสถียรภาพภายใน พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟัอทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ขณะที่จำนวนการว่างงานในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 91,548 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ