สศท.8 เผย แนวโน้มการผลิตการแฟโรบัสต้าไทย แนะเกษตรกรสร้างอัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่าในการแข่งขัน

ข่าวทั่วไป Monday June 27, 2016 10:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 เผย แนวโน้มการผลิตกาแฟโรบัสต้าลดลง แนะเกษตรกรพัฒนาแบบรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายสหกรณ์ พัฒนาคุณภาพ นำสู่อัตลักษณ์กาแฟโรบัสต้า เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกาแฟโรบัสต้าไทย นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตกาแฟโรบัสต้า โดยจากการติดตามของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) พบว่า ปัจจุบันมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกร้อยละ 68 รองลงมาคือ จังหวัดระนอง ร้อยละ 29 และจังหวัดอื่นๆ เช่น สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง รวมร้อยละ 2 ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกกาแฟ พื้นที่ให้ผล รวมทั้งผลผลิตลดลง โดยพื้นที่ให้ผลปี 2547 มีจำนวน 242,908 ไร่ ลดเหลือ 129,072 ไร่ ในปี 2558 เนื่องจากความผันผวนทางด้านราคาทั้งในประเทศและตลาดโลก ประกอบปัญหาสภาพดินที่เสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ได้พยายามส่งเสริมการปรับปรุง บำรุงดิน โดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพจากกากกาแฟ การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน แต่เนื่องด้วยสภาพพื้นที่การปลูกกาแฟส่วนใหญ่เป็นที่ลาดชัน เชิงเขา เกษตรกรยังคงเชื่อว่าการดูดซึมของปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ ช้ากว่าปุ๋ยเคมี อัตราการสูญเสียจากการใส่ปุ๋ยสูงกว่า ยิ่งในช่วงในฤดูฝนที่มีการชะล้างของน้ำฝน เกษตรกรจึงมีค่าใช้จ่ายในการขนและแบกปุ๋ยโดยคิดเป็นจำนวนกระสอบเพิ่มขึ้น รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในช่วงเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกรชาวสวนกาแฟบางส่วนตัดสินใจหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาจูงใจทดแทนโดยเฉพาะ ทุเรียน และบางส่วนปลูกพืชอื่นเสริมในสวนกาแฟ นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผอ.สศท.8 กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตกาแฟโรบัสต้าควรมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านการรวมกลุ่ม การสร้างเครือข่ายสหกรณ์ การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิต การสร้างอัตลักษณ์ของกาแฟโรบัสต้า อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น แบรนด์กาแฟชุมพร ของสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟชุมพร ที่เน้นจุดขายในด้านการผสมใช้ครีมเทียมที่ไม่ใช้ไขมันทรานส์เพื่อผู้บริโภคที่รักสุขภาพ กาแฟถ้ำสิงห์ที่เน้นอัตลักษณ์และจุดขายในการผลิตที่ลดความเปรี้ยวและคงรสชาติที่เข้มข้นของกาแฟโรบัสต้า หรืออย่างกาแฟเขาทะลุที่ไม่เพียงสร้างแบรนด์เชิงพื้นที่ แต่เป็นการสร้างชื่อเสียงในเชิงการท่องเที่ยงเกษตร และยังมีอีกหลายกลุ่มที่สนใจในการแปรรูป และการสร้างแบรนด์ของตนเอง การสร้างอัตลักษณ์ การเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างความแตกต่างของสินค้าในเชิงพื้นที่ ไม่เพียงแต่มีผลต่อเกษตรกร ผู้ปลูกในการกระตุ้นให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเท่านั้น ยังส่งผลต่อราคากาแฟที่เกษตรกรได้รับและผลทางอ้อมต่อชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร สถาบันเกษตรกร เพื่อส่งเสริมการผลิต การแปรรูป การเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ให้กับสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า โดยผ่านกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือ กองทุน FTA ให้แก่เกษตรกรสถาบันเกษตรกร หรือองค์กรเกษตรกร และผู้สนใจ ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ส่วนกองทุน FTA ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 0-2561-4727 โทรสาร : 0-2561-4726 หรือทาง http:// www2.oae.go.th/FTA และ E-mail: fta@oae.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ