มท.1 ประชุมวางแนวทางบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ข่าวทั่วไป Tuesday June 28, 2016 18:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยที่ประชุมได้วางแนวทางประสานการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและช่วย เหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบครอบคลุมทุกด้านอย่างเป็นระบบ ทั้งการวางระบบระบายน้ำ การประสานข้อมูลพยากรณ์อากาศ การอำนวยการจราจร การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การสื่อสารข้อมูลการแจ้งเตือนภัยและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อมูลปริมาณฝนและสภาพการจราจรที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมขัง แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังจากการระบายน้ำไม่ทันในหลายจุด รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการประสานการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาร่วมกับกรุงเทพมหานคร หน่วยทหาร ตำรวจ และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา โดยที่ประชุมได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบครอบคลุมทุกด้านอย่างเป็นระบบ ดังนี้ 1. การวางระบบระบายน้ำ โดยเพิ่มเครื่องสูบน้ำในจุดอ่อนน้ำท่วมขัง การพร่องน้ำในคลองสายหลัก อาทิ คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองคลองบางซื่อ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความรวดเร็ว การเปิดปิดประตูระบายน้ำให้สัมพันธ์กับช่วงเวลาที่ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเชื่อมโยงการทำงานกับจังหวัดปริมณฑลอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมเครื่องสำรองไฟ เครื่องปั่นไฟ กรณีไฟฟ้าดับ จะต้องแก้ไขสถานการณ์ตามมาตรฐานที่กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 นาที เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ 2. การประสานข้อมูลพยากรณ์อากาศระหว่างกรุงเทพมหานคร กรมอุตุนิยมวิทยา และ บก.02 ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลกรณีตรวจพบกลุ่มฝนให้วางแผนประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าร่วมกัน โดยเฉพาะหากฝนตกในช่วงกลางคืน ให้สรุปสถานการณ์ภายในเวลา 03.00 น. กรณีที่จำเป็นต้องปิดเส้นทาง ให้กระจายข้อมูลข่าวสารผ่านทุกช่องทางสื่อ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ SMS Application บนโทรศัพท์มือถือ และสื่อสังคมออนไลน์ ให้ประชาชนทราบภายในเวลา 05.00 น. เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วม 3. การอำนวยการจราจร เน้นย้ำให้กองบังคับการตำรวจจราจรจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลเส้นทางน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนในช่วงเช้า และบ่ายถึงค่ำ เพื่ออำนวยการจราจรและปิดกั้นเส้นทาง ที่มีน้ำท่วมขัง รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง 4. การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทำหน้าที่ในการประสานหน่วยทหาร นักเรียนจากสถาบันอาชีวศึกษา และอาสาสมัครของมูลนิธิต่างๆ แบ่งมอบพื้นที่และกำหนดความรับผิดชอบในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการซ่อมแซม เคลื่อนย้ายรถที่เครื่องยนต์ขัดข้องมิให้จอดกีดขวางเส้นทาง การจัดรถขนาดใหญ่ให้บริการขนย้ายสิ่งของและรับส่งประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง 5. ด้านการสื่อสารข้อมูลการแจ้งเตือนภัยและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อมูลปริมาณฝนและสภาพการจราจรที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานหลักในการกระจายข้อมูลข่าวสาร พร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในทุกช่องทาง เน้นการใช้สื่อที่เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลในการวางแผนรับมือและแก้ไขปัญหา ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้จังหวัดปริมณฑลเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยตรวจสอบเส้นทางระบายน้ำที่เชื่อมโยงกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมถึงให้ยึดรูปแบบการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ขอให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลประสานการทำงานร่วมกันอย่างเต็มกำลัง ในการลดผลกระทบจากน้ำท่วมขังกรณีฝนตกหนัก การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด เพื่อให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ